fbpx

ชัวร์ก่อนแชร์: Pfizer ยอมรับ ไม่เคยทดสอบการแพร่เชื้อจากผู้ฉีดวัคซีน จริงหรือ?

20 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลบิดเบือนแพร่ทางคลิปวิดีโอทาง X (Twitter) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ร็อบ รูส์ สมาชิกรัฐสภายุโรปชาวดัตช์ อ้างว่าผู้บริหารของ Pfizer บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยอมรับว่า บริษัทไม่เคยทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อหลังการฉีดวัคซีน ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นเรื่องหลอกลวง


บทสรุป :

  1. จุดประสงค์หลักของวัคซีนคือการป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนัก
  2. ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ 100% แต่วัคซีนเหล่านั้นช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การทดสอบในภายหลังพบว่าผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดโอกาสการแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

คลิปที่ ร็อบ รูส์ กล่าวอ้าง นำมาจากคำชี้แจงของ เจนีน สมอล ประธานฝ่ายการตลาดประเทศพัฒนาแล้วของ Pfizer ระหว่างร่วมการไต่สวนที่รัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมปี 2022


ร็อบ รูส์ ตั้งคำถามว่า “วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ได้รับการทดสอบด้านการป้องกันการแพร่เชื้อก่อนนำมาใช้กับประชาชนหรือไม่” ซึ่ง เจนีน สมอล ตอบว่า “วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ไม่มีการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้รับวัคซีนแต่อย่างใด”

คำตอบดังกล่าว ถูก ร็อบ รูส์ นำไปเผยแพร่ผ่านทาง X (Twitter) โดยโจมตีว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องโกหก เพราะวัคซีนไม่เคยถูกทดสอบว่าป้องกันการแพร่เชื้อได้หรือไม่ การบังคับให้ผู้คนฉีดวัคซีนเป็นเรื่องน่าตกใจ ไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม

ในเวลาแค่ 2 วันข้อความดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่า 138,500 ครั้ง ได้รับยอดไลก์ไปถึง 232,600 ไลก์

อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 คือการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ไม่ใช่การป้องกันการแพร่เชื้อ และไม่มีหน่วยงานใดเคยอ้างว่าวัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ 100%

ไม่เคยมีการอ้างประสิทธิผลการป้องกันการแพร่เชื้อ

อัลเบิร์ต เบอร์ล่า ซีอีโอของบริษัท Pfizer เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC ช่วงก่อนการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมปี 2020 ว่า ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนจะเป็นพาหะหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

แถลงการณ์ขององค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FDA) และองค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) หลังการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 สำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ได้ระบุประเด็นด้านประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักจากไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อและป่วยจากไวรัสได้นานแค่ไหน และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนจะป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หรือไม่

ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อ-แพร่เชื้อได้ 100%

แทบจะไม่มีวัคซีนใด ๆ ในปัจจุบันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ 100% แต่วัคซีนเหล่านั้นก็สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีนโรต้าไวรัส ช่วยป้องกันอาการท้องร่วงในเด็กเล็ก ก็มีคุณสมบัติเพียงป้องกันการป่วยหนัก แต่หลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรต้าไวรัสในสหรัฐฯ เมื่อปี 2006 เป็นต้นมา อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงเกือบ 90%

วัคซีนโรคไอกรนสำหรับทารก ก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคไอกรนได้ทั้งหมด แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนโรคไอกรนในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1940s อัตราการป่วยด้วยโรคไอกรนก็ลดลงจาก 100,000 รายต่อปี เหลือเพียง 10,000 รายต่อปีในปี 1965

นาตาชา โครว์ครอฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและที่ปรึกษาด้านโรคหัดและโรคหัดเยอรมันให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายต่อนิตยสารวิทยาศาสตร์ Scientific American ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ ปัจจัยมาจากระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัส แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 40% และป้องกันการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้ถึง 82%

วัคซีนสร้างเพื่อป้องกันป่วย-ตาย

ประโยชน์ทางอ้อมของวัคซีนยังรวมถึงการแบ่งเบาภาระให้กับหน่วยงานสาธารณสุข เพราะการป้องกันการป่วยหนักของวัคซีน ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 พบว่า ผู้ไม่ฉีดวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1.5 ถึง 11 รายต่อประชากร 100,000 คน ต่างจากผู้ที่ฉีดวัคซีนที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 0.1 ถึง 0.7 รายต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine พบว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโอไมครอนระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 ในกลุ่มผู้ไม่ฉีดวัคซีนสูงกว่าคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถึง 10.5 เท่า ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้นก็มีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 สูงกว่าคนที่ฉีดเข็มกระตุ้นแล้วที่ 2.5 เท่า

การทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19

แม้ระหว่างการทดลองทางคลินิก จะไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19 แต่ต่อมาก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19 ในภายหลัง

เดวิด กอร์สกี ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมและมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัย Wayne State University อธิบายว่า การทดลองทางคลินิกของ Pfizer คือการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนมีรูปแบบที่แตกต่างจากการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่มีการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนในระหว่างการทดลองทางคลินิก แต่มาศึกษาหลังจากวัคซีนได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนหลังใช้งานจริง

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อปี 2021 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech ครบ 2 โดส มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีนถึง 3 เท่า (คนฉีดติดเชื้อ 4 จาก 10,000 ราย/วัน คนไม่ฉีดติดเชื้อ 14 จาก 10,000 ราย/วัน)

งานวิจัยในประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน แม้ช่วงที่ไวรัสเดลต้าแพร่ระบาดจะพบว่า การป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนลดประสิทธิภาพลง แต่ยังพบว่าวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech ลดการแพร่เชื้อไวรัสเดลต้าแก่ผู้ฉีดวัคซีนได้ดีกว่าวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca

งานวิจัยในประเทศอิสราเอลพบว่า ในครอบครัวที่มีผู้ปกครองติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย โอกาสที่เด็กในบ้านซึ่งยังไม่ฉีดวัคซีนจะติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงอย่างมากหากผู้ปกครองที่ติดเชื้อฉีดวัคซีนแล้ว โดยช่วงที่ไวรัสอัลฟ่าระบาด โอกาสแพร่เชื้อจากผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนสู่เด็กลดลงถึง 72.1% และลดลง 79.6% ในช่วงที่ไวรัสเดลต้าระบาด

งานวิจัยในประเทศเดนมาร์กซึ่งตรวจสอบการติดเชื้อใน 20,000 ครัวเรือน พบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างมาก แม้แต่ในช่วงที่ไวรัสโอไมครอนแพร่ระบาดก็ตาม

ข้อมูลอ้างอิง :

https://healthfeedback.org/claimreview/scientific-studies-show-pfizer-biontech-covid-19-vaccine-reduces-transmission-claim-rob-roos-misleading/
https://www.factcheck.org/2022/10/scicheck-its-not-news-nor-scandalous-that-pfizer-trial-didnt-test-transmission/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ลาบูบู้ เที่ยววัดพระแก้ว – ททท.จ่อดึงน้องเนย ร่วมโปรโมตท่องเที่ยว

ลาบูบู้ เริ่มภารกิจโปรโมตท่องเที่ยวไทย แต่งชุดไทยไปวัดพระแก้ว ขณะที่ ททท.เตรียมดึง Butter Bear หรือ “น้องเนย” ร่วมโปรโมตท่องเที่ยว ดึงแฟนคลับจีนมาเที่ยวไทย

ตามหา “โยเซฟ” คนดวงเฮงถูกรางวัลปีเดียว 2 หน รวย 114 ล้าน

หลังมีข่าว นายโยเซฟ หัวหน้าองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และพลัดถิ่นชาวเมียนมา ดวงเฮง 4 เดือน ถูกรางวัลที่ 1 ถึง 2 ครั้ง รวมเงินรางวัล 114 ล้านบาท ทำให้นักข่าวหลายสำนักต่างตามหาตัว เพื่อพูดคุยยืนยันความโชคดี

ข่าวแนะนำ

ทั่วไทยจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

ทั่วไทยประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ทร. ประกอบพิธีอัญเชิญเรือสุพรรณหงส์ลงแม่น้ำ

วันนี้ กองทัพเรือ ประกอบพิธีอัญเชิญเรือสุพรรณหงส์ ลงแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีพระบรมราชานุญาตให้เห็นขั้นตอนการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ

ผู้ว่าการ ธปท. แจงปรับดอกเบี้ยต้องดูรอบด้าน

ผู้ว่าการ ธปท. แจงปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องดูผลกระทบรอบด้าน สร้างความสมดุล ขณะมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2567 มั่นใจยังขยายตัวได้ 3%

กกต. เบี้ยวชี้แจง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ อ้างติดภารกิจ

กกต. เบี้ยวชี้แจง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ อ้างติดภารกิจ ด้าน “ไอลอว์” จี้เปิดผลกระบวนการเลือก สว. ทุกขั้นตอน เหตุหน่วยเลือกใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน ตัวแทนสื่อฯ ยันมีจริงกระบวนการดักคอยผู้สมัคร