19 เมษายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการออทิสติกให้หายขาด แต่มีนักวิจัยที่พบความเป็นไปได้ของการใช้ยาซูรามิน (Suramin) เพื่อรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก นำไปสู่การวิจัยศึกษาสรรพคุณของยาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการวิจัยส่วนใหญ่ยังอยู่ในการทดลองขั้นต้นและมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย ปัจจุบันจึงไม่อาจยืนยันได้ว่า ยาซูรามินสามารถใช้รักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยเพียงใด
ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) และสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคออทิสติก และเตือนถึงอันตรายของการใช้ยารักษาผู้ป่วยออทิสติกอย่างไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี FDA ได้อนุมัติยาสำหรับรักษาอาการข้างเคียงของโรคออทิสติก ทั้งอาการกระตือรือร้นมากเกินไปหรือการขาดสมาธิ เช่น การใช้ยาระงับอาการทางจิตเพื่อบรรเทาอาการฉุนเฉียวง่ายของผู้ป่วยโรคออทิสติก
งานวิจัยการใช้ยาซูรามินปี 2017
แต่เดิม ยาซูรามิน (Suramin) ถูกใช้สำหรับรักษาโรคพยาธิตาบอด (Onchocerciasis) และโรคเหงาหลับ (African Trypanosomiasis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิต
สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ข้อความอ้างถึงสรรพคุณของยาซูรามินในการรักษาโรคออทิสติก ที่สามารถช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกสามารถพูดได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์อ้างงานวิจัยปี 2017 ที่พบว่าการใช้ยาซูรามินสามารถช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ดีขึ้น
งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ทีมวิจัยได้ตั้งข้อสมมติฐานว่า ผู้ป่วยโรคออทิสติกจะมีการทำงานของสารอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตหรือ ATP มากผิดปกติ ซึ่งสารดังกล่าวทำหน้าที่ให้พลังงานแก่เซลล์ ดังนั้นความสามารถในการจำกัดการทำงานของ ATP ของยาซูรามิน อาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคออทิสติกมีอาการดีขึ้น
ทีมวิจัยทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเด็กชายซึ่งป่วยเป็นโรคออทิสติกจำนวน 10 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาซูรามินจำนวน 5 ราย และได้รับยาหลอกจำนวน 5 ราย ผลการทดลองพบว่า กลุ่มเด็กออทิสติกที่ได้รับยาซูรามินมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ดีขึ้นเพียงชั่วคราวและเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับยาหลอก
ดร.โรเบิร์ต นาโวซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคออทิสติกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และหัวหน้าทีมวิจัย ย้ำว่าแม้เด็กที่ได้รับยาซูรามินจะมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่การสำรวจพัฒนาการด้านอื่น ๆ ไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ ข้อจำกัดทั้งปริมาณการใช้ยาและจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็ก จึงยังไม่แนะนำให้ใช้ยาซูรามินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคออทิสติก เพราะการใช้ยาซูรามินอย่างไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง
ข้อความที่แชร์ทางสื่อออนไลน์ยังอ้างว่า สารที่อยู่ในยาซูรามินสามารถหาได้จากใบของต้น ซึ่ง ดร.โรเบิร์ต นาโวซ์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากยาซูรามินเกิดจากการสังเคราะห์ยาตามสูตรโครงสร้างทางเคมีในห้องปฏิบัติการ จึงเป็นตัวยาที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ
งานวิจัยการใช้ยาซูรามินปี 2023
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 บริษัทผู้ผลิตยา PaxMedica ได้แถลงความสำเร็จของการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 เรื่องการใช้ยาซูรามินรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก โดยงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Annals of General Psychiatry
การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มตัวอย่างกับเด็กชายที่มีอาการออทิสติกระดับกลางถึงรุนแรงอายุระหว่าง 4-15 ปี จำนวน 52 ราย พบว่าการรักษาด้วยการฉีดยาซูรามินโดสต่ำทางหลอดเลือดดำ ช่วยให้เด็กที่ได้รับยามีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติม
มาร์ค คาวิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตเวชเด็ก โรงพยาบาล Johns Hopkins All Children’s Hospital ให้ความเห็นว่า ในการทดลองเบื้องต้น ยาซูรามินแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการรักษาโรคออทิสติก แต่จำเป็นต้องยืนยันผลจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และที่ 3 กับจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่าหลายร้อยราย จึงจะได้ข้อมูลที่เพียงพอว่า ยาซูรามินสามารถใช้รักษาโรคออทิสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/article/factcheck-suramin-autism-cure/fact-check-suramin-is-not-a-proven-cure-for-autism-idUSL1N3521OO/
https://www.logicallyfacts.com/en/fact-check/false-suramin-developed-to-treat-african-sleeping-sickness-is-a-cure-for-autism-spectrum-disorder
https://finance.yahoo.com/news/paxmedica-announces-publication-autism-spectrum-130000425.html
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter