13 มีนาคม 2567 – ตามที่มีการแชร์เกี่ยวกับวิธีบำรุงสมองเอาไว้มากมาย ทั้งนอนห้อยหัว แลบลิ้น ช่วยป้องกันสมองเสื่อม และการดื่มกาแฟ ดื่มโกโก้ จะทำให้สมองดีขึ้นได้ ?! เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ พบคำตอบได้ที่ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST ร้อยเรียงเรื่องฮิต ติดอันดับจากชัวร์ก่อนแชร์
อันดับที่ 1 : ดื่มโกโก้ช่วยบำรุงสมอง จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความบอกว่าวิธีบำรุงสมองและความจำด้วยการรับประทานโกโก้ทุกวันนั้น
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : ดร.สุดาทิพย์ แซ่ตั้น อาจารย์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยา
บทสรุป : จริง แชร์ได้ ✅ การกินโกโก้จะได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ควรผสมนม
ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้ดื่มโกโก้ร้อนเพื่อบำรุงสมอง ระบุงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษรองรับว่าการดื่มโกโก้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 1,000 มิลลิกรัม วันละครั้งทุกวันจะช่วยบำรุงสมอง จากการทดลองต้วยตนเองพบว่าเซลล์สมองทำงานดีขึ้น ไม่ซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม แม้โกโก้จะมีประโยชน์แต่ไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ เพียงแต่ชะลอให้เกิดโรคช้าลง
ด้าน ดร.สุดาทิพย์ แซ่ตั้น อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่าโกโก้มีสารอาหารที่มีประโยชน์ ต้านมะเร็ง ลดความเครียด อย่างไรก็ตามโกโก้มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก หากจะได้ประโยชน์จากโกโก้โดยตรงควรชงดื่มกับน้ำเปล่า หากใส่นมจะได้ประโยชน์จากโกโก้ลดลง เนื่องจากนมไปจับกับสารสำคัญของโกโก้ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้
อันดับที่ 2 : ใบมะกรูดมหัศจรรย์ บำรุงสมอง จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความระบุว่า สรรพคุณของใบมะกรูด มีกรดอะมิโน, วิตามินทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ ลดความดัน บำรุงเหงือก บำรุงสมอง
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ ❌
“ใบมะกรูดมีวิตามิน มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามใบมะกรูดไม่ได้ช่วยบำรุงสมองอย่างที่แชร์กัน เป็นการอ้างสรรพคุณเกินจริง”
แชร์ว่า : ใบมะกรูดมีกรดอะมิโนครบทุกชนิด
ตอบ : กรดอะมิโนพบในอาหารที่มีโปรตีนเท่านั้น
แชร์ว่า : ใบมะกรูดมีสรรพคุณบำรุงสมอง
ตอบ : ไม่จริง ใบมะกรูดไม่ได้เป็นแหล่งของแคลเซียม
แชร์ว่า : ใบมะกรูด ช่วยลดความดัน
ตอบ : ไม่เคยมีรายงาน ยกเว้นลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองได้ แต่การทดลองดังกล่าวสาร Hesperidin ที่ถูกสกัดออกมาเป็นสารที่ร่างกายคนดูดซึมได้จำกัด ถือเป็นข้อจำกัดของใบมะกรูด
แชร์ว่า : ใบมะกรูดมีวิตามินครบทุกชนิด
ตอบ : มะกรูดมีวิตามินอีสูงเป็นอันดับ 2 รองจากผักหวาน ส่วนวิตามินซีพบมากในใบและเปลือกมากกว่าผล ที่แชร์ว่าการเคี้ยวใบมะกรูดบำรุงเหงือก เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะใบมะกรูดมีวิตามินซีน้อย
แชร์ว่า : กินข้าวขาหมูโรยใบมะกรูดจะได้สารอาหารครบ 5 หมู่
ตอบ : ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบระหว่างน้ำ ผล ใบแล้ว พบว่าผิวมะกรูดมีประโยชน์มากที่สุด อุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหย วิตามินซี วิตามินอี และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ในขณที่ใบแม้จะมีสารต้านอนุมูลอิสระบ้าง แต่มีข้อจำกัดที่ร่างกายดึงไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
อันดับที่ 3 : แลบลิ้น ช่วยป้องกันสมองเสื่อม จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความว่าการแลบลิ้นทุกวันสามารถป้องกันสมองเสื่อมได้
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายแพทย์ มัยธัช สามเสน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาชัย
บทสรุป : แชร์ได้ อธิบายเพิ่ม ⚠️
“การเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงการรับรส ดมกลิ่น ล้วนมีส่วนช่วยชะลอและป้องกันอาการสมองเสื่อมได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการแลบลิ้นอย่างเดียว”
อันดับที่ 4 : นอนห้อยหัว ช่วยสมองดี ห่างไกลอัมพาต จริงหรือ ?
มีการแชร์แนะนำให้นอนห้อยหัว วันละ 10 นาที จะช่วยให้สมองดี แก่ช้า หน้าใส ห่างไกลอัมพาต
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายแพทย์ ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง สถาบันประสาทวิทยา
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
“การนอนห้อยหัว ไม่ได้ช่วยให้สมองดีขึ้น รวมถึงไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพาต ไม่ควรทำตามเพราะอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้”
อันดับที่ 5 : 10 วิธีดูแลสมองให้เฉียบคม จริงหรือ ?
มีการแชร์เกี่ยวกับสารพัดวิธีรักษาสิวและริ้วรอยเอาไว้มากมาย หลายคนก็ว่าชาเขียวช่วยรักษาสิว และการใช้น้ำเกลือเช็ดหน้าก็ช่วยป้องกันการเกิดสิวได้
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายแพทย์ ทิพากร ตุ้มนาค สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ ⚠️
“การออกกำลังกายและการนอนหลับ ช่วยบำรุงสมองแต่ในแปะก๊วย น้ำมันตับปลา กินแล้วสมองจะดีไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีหลักฐานรองรับ”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter