02 มีนาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Instagram และ TikTok ในต่างประเทศ โดยอ้างว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศความพร้อมเตรียมส่งเครื่องบินรบไปยังรัฐเท็กซัส หากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านพรมแดนในเท็กซัสลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง และยังมีคลิปวิดีโอบิดเบือนข้อมูลทาง X และ Youtube ที่อ้างว่าบริเวณชายแดนของรัฐเท็กซัส มีการส่งรถถังออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
บทสรุป :
- เสียง โจ ไบเดน ที่ถูกแชร์ได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นเสียงที่สร้างโดย AI
- ภาพรถถังที่ถูกแชร์เป็นคลิปเก่าจากประเทศชิลีที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2023
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ความขัดแย้งระหว่างรัฐเท็กซัสและรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ปะทุขึ้นเมื่อผู้ว่าการรัฐเท็กซัสออกคำสั่งปิดพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศเม็กซิโกและรัฐเท็กซัส และตั้งรั้วลวดหนามเพื่อป้องกันการลุกล้ำพื้นที่โดยกลุ่มผู้อพยพ
กระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2024 ศาลฎีกาแห่งสหรัฐอเมริกาตัดสินให้รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกามีสิทธิ์รื้อรั้วลวดหนามดังกล่าว สร้างความไม่พอใจต่อผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ที่ประกาศจะปกป้องอธิปไตยของรัฐอย่างถึงที่สุด พร้อมได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการรัฐฝั่งพรรครีพับลิกัน ได้แก่ รัฐฟลอริดา รัฐโอคลาโฮมา และรัฐอินดีแอนา
โดยเมื่อเดือนมกราคม มีคลิปที่อ้างว่าเป็นบทสัมภาษณ์ลับของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่พูดว่า “เราต้องทำให้มั่นใจว่า พวกคาวบอยเหล่านี้จะไม่กีดกันเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เข้าไปดูแลพื้นที่ได้ หากจำเป็นต้องส่งเครื่องบินรบ F-15 เพื่อทำสงครามกับเท็กซัส ก็ให้มันเป็นไป”
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบที่มาของคลิปเสียงโดย Fact Checker ของ Politifact และ Leadstories พบว่าคลิปเสียงดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นของปลอม
คลิปเสียงจาก AI
ฮารี ฟาริด ศาสตราจารย์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิทัล ข้อมูลเท็จ และกระบวนการรับรู้ข้อมูลของมนุษย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อธิบายว่า จังหวะการพูดในคลิป ฟังดูคล้ายกับเสียงที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์อย่างมาก
ส่วน วอลเตอร์ เจ. ไชเออร์ ศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยน็อทร์ดาม ย้ำว่า การที่คลิปเสียงดังกล่าวไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาได้ และโพสต์โดยบุคคลที่ปิดบังตนเอง คือสิ่งยืนยันว่าคลิปเสียงดังกล่าวน่าจะถูกปลอมแปลงขึ้นมา
แอนดรูว์ เบตส์ โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า คลิปเสียงที่แชร์ทางออนไลน์ ไม่ใช่เสียงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เช่นกัน
รถถังในชิลี
ส่วนคลิปรถถังบริเวณพื้นที่ชายแดน ที่อ้างถ่ายมาจากชายแดนในรัฐเท็กซัส ได้รับการตรวจสอบจาก Fact Checker ของ Snopes และ Taiwan Fact Check ที่ยืนยันว่า ภาพรถถังที่แชร์ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเท็กซัสแต่อย่างใด
จุดสังเกตคือ ทะเบียนรถยนต์ในคลิปวิดีโอ ไม่ใช่ทะเบียนของรถยนต์ที่ใช้ในรัฐเท็กซัส
การตรวจสอบตำแหน่งของภาพโดย Fact Checker ของ Newsweek พบว่า สถานที่ดังกล่าวอยู่ในประเทศชิลี ใกล้กับโรงงานเคมีในเมืองอันโตฟากาสตา เมืองทางตอนเหนือของประเทศชิลี
ส่วนการตรวจสอบคลิปต้นทาง พบว่าถูกแชร์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2023 ซึ่งถ่ายเอาไว้หลายเดือนก่อนความขัดแย้งในเท็กซัสจะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2024
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2024/jan/18/tiktok-posts/audio-clip-of-president-joe-biden-threatening-war/
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/01/fact-check-biden-did-not-threaten-to-wage-war-against-texas.html
https://www.snopes.com/fact-check/texas-mexico-border-tanks/
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/10279
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter