15 กุมภาพันธ์ 2567
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มิจฉาชีพนั้นได้แฝงตัวอยู่เกือบทุกกิจกรรมการดำเนินชีวิต คอยหลอกล่อให้เราสูญเสียทั้งเงินและข้อมูลส่วนตัว ทั้ง โทรศัพท์มาหลอก ส่ง SMS ปลอม Line ปลอม เว็บไซต์ปลอม รวมถึงเพจเฟซบุ๊กปลอม หลายครั้งที่ช่องทางเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างแยบยล จนเราไม่ทันสังเกตเห็น ทำให้หลายคนพลาดท่าเสียข้อมูลส่วนตัวและทรัพย์สินให้กับโจรออนไลน์ จนเกิดความกังวลใจว่าแบบนี้มีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ ? แล้วควรจะทำอย่างไรดี ?
วันนี้ ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate🚀 มีคำตอบจาก พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาคลายความกังวลให้ทุกคนกันค่ะ
ถาม : รับสายมิจฉาชีพไปแล้ว ทำอย่างไรดี ?
“รับสายเบอร์แปลก มีโอกาสถูกแฮกข้อมูลหรือไม่”
“รับมือเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพ“
“มิจฉาชีพโทรมาควรทำอย่างไร”
พล.ต.ต.นิเวศน์ ตอบ : แจ้งเครือข่ายโทรศัพท์ให้ทราบ เพื่อปิดเบอร์นั้น หากรับสายโทรศัพท์แล้วไม่มั่นใจว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ แนะนำให้วางสาย และขอเป็นฝ่ายโทรศัพท์กลับ เพราะถ้าเป็นเบอร์ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จริง แน่นอนว่าเราจะสามารถโทรศัพท์กลับไปหาได้
ถาม : เผลอบอกเลขบัญชีธนาคารไปแล้ว ต้องปิดบัญชีไหม ?
“การที่บอกเลขที่บัญชี และชื่อบัญชีธนาคารของเราให้คนอื่นรู้ จะมีคนสามารถโจรกรรมบัญชีเราได้ไหม”
“โดนหลอกให้ส่งเลขบัญชีไปเป็นไรไหมคะ”
“ส่งบัตรประชาชน เลขที่บัญชี ให้คนแปลกหน้า อันตรายไหม”
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ตอบ : ไม่ถึงขั้นต้องปิดบัญชี แต่แนะนำให้โทรศัพท์ไปแจ้งธนาคารว่าจะขอยับยั้งการทำธุรกรรมทางออนไลน์และกำหนดวงเงินที่จำกัดเท่าที่ใช้
ถาม : คนร้ายสามารถนำบัญชีเรา เป็นไปบัญชีม้าได้หรือไม่ ?
“บอกเลขบัญชีไปมิจฉาชีพไป เสี่ยงเป็นบัญชีม้าไหม”
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ตอบ : บัญชีม้าไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ หากคนร้ายต้องการนำบัญชีเราไปเป็นบัญชีม้า จะต้องยืนยันตัวตนด้วการสแกนใบหน้า กลโกงที่ต้องระวัง คือ แอปพลิเคชันกู้เงิน สมัครงานออนไลน์ที่มีระบบให้สแกนใบหน้า เพราะคนร้ายอาจใช้ภาพใบหน้าของเราไปสแกนเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร โอนเงินจนเกลี้ยงบัญชี หรือสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีได้
ถาม : บอกเลขบัตรประชาชนให้คนร้ายไปแล้ว ต้องไปทำบัตรใหม่ไหม ?
“มิจฉาชีพรู้เลขบัตรประชาชนแล้วอันตรายไหม”
“หลวมตัวบอกบัตรประชาชนมิจฉาชีพไปค่ะ ทำไงดีคะ”
“ให้คนอื่นรู้เลขบัตรประชาชนอันตรายไหม”
“ข้อมูลบัตรประชาชนหลุด จะเกิดอันตรายอะไร”
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ตอบ : ไม่จำเป็นต้องไปทำบัตรใหม่ เพราะเลขบัตรประชาชนเป็นหมายเลขเดิมตลอดชีวิต แต่หากให้เลขหลังบัตรประชาชนไปและรู้สึกไม่สบายใจ สามารถไปทำใหม่ได้
ถาม : คนร้ายได้เลขบัตรเดรดิตไป แบบนี้อันตรายไหม ?
“เผลอบอกเลขบัตรเครดิตไป เป็นอะไรไหม”
“บอกเลขบัตรเครดิตให้คนอื่นรู้ อันตรายไหม”
“เลขบัตรเครดิตสำคัญยังไง”
“คนอื่นสามารถนำเลขบัญชีเราไปทำอะไรได้บ้าง”
“ให้เลขบัตรเครดิตคนอื่นได้ไหม”
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ตอบ : ต้องเช็กว่าคนร้ายได้เลขหลังบัตร 3 ตัวไปหรือไม่ ถ้าคนร้ายได้ไป เจ้าของบัตรควรโทรศัพท์ไปหาธนาคารและขอยกเลิก หรือขอทำบัตรใหม่ มิเช่นนั้นคนร้ายอาจนำเลขบัตรไปทำธุรกรรมออนไลน์ได้ และขอย้ำ ! ก่อนทำธุรกรรมออนไลน์ใด ๆ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์เสมอ
แม้ 5 สถานการณ์ข้างต้นอาจจะดูเหมือนไม่ได้รุนแรงมาก เพราะ แค่เสียข้อมูลส่วนตัว หรือบัตรธุรกรรมเท่านั้น ยังไม่มีการเสียทรัพย์สินไป แต่ที่ดียิ่งกว่าคือการไม่โดนเลยสักนิด ดังนั้น การรู้คิดเตรียมรับมือกับภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ จึงเป็นย่างก้าวแห่งความปลอดภัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเนื้อหาภัยไซเบอร์ตอนอื่น ๆ ได้ที่ ชัวร์ก่อนแชร์ | ภัยไซเบอร์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter