17 ตุลาคม 2566
ขาชอปออนไลน์ต้องระวัง ! เพราะตอนนี้มิจฉาชีพมีมุกใหม่ สวมรอยเป็นเพจดัง ทักหา หลอกให้โอนเงิน
จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – วันที่ 14 ตุลาคม 2566 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 137,719 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.12% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า และตอนนี้อุบายที่คนร้ายใช้ คือ จะทักไปหาผู้เสียหายที่ได้ทำการสั่งซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สดของเพจร้านค้าต่าง ๆ โดยผู้เสียหายจะพิมพ์รหัสสินค้าที่ต้องการจะสั่งซื้อ หากผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว จะมีข้อความจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเพจจริง แจ้งมายังกล่องข้อความ (Inbox) บัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า เพื่อแจ้งรหัสการสั่งซื้อ ราคา และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพได้แฝงตัวอยู่ในเพจจริงดังกล่าว เมื่อเห็นผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าแล้วจะฉวยโอกาสใช้เพจปลอมติดต่อไปยังบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย โดยแอบอ้างเป็นร้านค้าจริง ส่งหมายเลขบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่เตรียมไว้ให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อเพจ รูปโปรไฟล์เพจใกล้เคียงหรือเหมือนกับเพจจริง จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเพจร้านค้าจริง จึงทำการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปให้มิจฉาชีพ กระทั่งภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักจะมองหาเพจขายสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก แล้วคัดลอกภาพโปรไฟล์ ตั้งชื่อเลียนแบบ หรือตั้งชื่อคล้ายกับเพจจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีคดีสำคัญ ๆ หลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลายราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ
7 คำแนะนำตำรวจไซเบอร์ รู้ทัน ก่อน CF ของออนไลน์ !
- ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
- ระวังการได้รับแจ้งว่าเป็นผู้โชคดี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับรางวัลต่าง ๆ แต่มีการให้โอนเงินไปก่อน ถึงจะได้รับสินค้า โดยมีการอ้างว่าเป็นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ อย่าได้โอนเงินเด็ดขาด
- ระวังช่องทางขายสินค้าปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
- หากต้องการซื้อสินค้ากับเพจเฟซบุ๊กใด ให้ไปที่ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบก่อนว่าเพจนั้นมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ มีผู้จัดการเพจ หรือผู้ดูแลอยู่ในประเทศหรือไม่
- เมื่อสนใจต้องการซื้อสินค้ากับเพจใด ๆ ควรจะส่งข้อความไปยังเพจจริงนั้นก่อน ระหว่างหรือหลังการไลฟ์สดหากมีเพจใด ๆ ติดต่อมาแล้ว ไม่มีประวัติการสนทนา เชื่อได้ว่าเป็นเพจปลอมของมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
- ทุกครั้งก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่าเป็นช่องทางการรับเงินจริงหรือไม่ มีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Blacklistseller เป็นต้น
- กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter