6 ตุลาคม 2566
จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – วันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่า การหลอกลวงโอนเงินเพื่อหารายได้เสริมจากการทำกิจกรรม มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 44,250 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 5,425 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 3 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (แก๊ง Call Center) และตอนนี้หนึ่งในกลโกงที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกผู้เสียหาย คือ การรับสมัครนักพากย์เสียงผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยใช้รูปนักแสดงหญิงชื่อดังมาแอบอ้าง ทำให้มีคนหลงเชื่อและสูญเสียเงิน วันนี้ ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate🚀 จะพาทุกคนไปดูกันว่า กระบวนการของมิจฉาชีพเป็นอย่างไร
สร้างเพจปลอม ยิงโฆษณา หลอกทำภารกิจและให้โอนเงินก่อน !
เริ่มจากมิจฉาชีพจะสร้างบัญชีสื่อออนไลน์ปลอม ทั้ง Facebook Page Instagram Tiktok อ้างเป็นบริษัทและใช้รูปนักแสดงหญิงชื่อดังมาลงโฆษณาหานักพากย์เสียง โดยใช้คำเชิญชวนว่า
“รับสมัครนักพากย์เสียง รายได้ดี ใช้เสียงสร้างรายได้ สามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมได้”
มิจฉาชีพได้จ่ายเงินซื้อโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้คนเห็นประกาศรับสมัครงานเป็นวงกว้าง หากสนใจจะต้องติดต่อไปยังพนักงานบริษัทผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งจะมีมิจฉาชีพคอยตอบและสอบถามข้อมูลส่วนตัว
ประสบการณ์ทำงาน ภาพถ่ายใบหน้า และแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียหายทราบ จากนั้นจะหลอกลวงผู้เสียหายเข้ากลุ่มไลน์ และเริ่มทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น กดไลก์สินค้า รับชมสินค้าของบริษัท และสำรองเงินในจำนวนเล็กน้อยเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำกิจกรรมครบ หรือเสร็จสิ้นตามจำนวน ก็จะได้รับเงินและผลกำไรคืนเล็กน้อยจริง โดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการทดลองงาน
ขั้นต่อไป เมื่อผู้เสียหายผ่านการทดลองงาน จะได้เข้าไปคุยกับมิจฉาชีพอีกราย ที่อ้างตัวเป็นผู้จัดการ ซึ่งจะแจ้งผู้เสียหายให้ทำกิจกรรมสนับสนุนบริษัท เพื่อจะได้ผ่านเข้ารอบการว่าจ้างงานต่อไป โดยจะหลอกให้ทดสอบพากย์เสียง พร้อมกับโอนเงินเพื่อซื้อสินค้า ที่อ้างว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้ในการทำงาน เช่น ไมโครโฟนสำหรับฝึกร้องเพลง และพากย์เสียง เป็นต้น โดยแจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินคืนพร้อมค่าคอมมิชชัน เริ่มจากให้โอนจำนวนน้อยก่อนแล้วได้รับเงินจริง กระทั่งสินค้ามีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่าง ๆ หากผู้เสียหายไม่ยอมโอนเงิน ก็จะถูกข่มขู่ เช่น หากไม่โอนเงินจะทำการอายัดบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย รวมถึงสมาชิกที่อยู่ภายในกลุ่มก็จะไม่ได้รับเงินคืนด้วย ซึ่งสมาชิกดังกล่าวก็เป็นมิจฉาชีพที่สร้างบัญชีผู้ใช้อวตารขึ้นมาหลอกลวงผู้เสียหาย
การหลอกสมัครงานออนไลน์ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่เปลี่ยน “ชื่องาน” ไปตามสถานการณ์ จากฐานข้อมูลศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พบทั้ง ประกาศรับสมัครพนักงานตอบแช็ต พนักงานพาร์ทไทม์อ้างบริษัทชื่อดังต่าง ๆ พนักงานแพ็คของ เป็นต้น โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้และอ้างข้อเสนอที่ฟังดูดี ได้ผลตอบแทนสูง มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน เป็นเครื่องมือในการหลอก
ดังนั้นหากพบเห็นประกาศรับสมัครงานในลักษณะนี้ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าหลงเชื่อเพียงแค่หนังสือมอบอำนาจ ถึงแม้จะมีตราสัญลักษณ์บริษัทที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งใครก็สามารถทำขึ้นเองได้ รวมถึงประกาศรับสมัครงานที่ต้องสำรองเงิน โอนเงินและวางมัดจำก่อน ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง อย่าโอนเงินโดยเด็ดขาด
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter