3 ตุลาคม 2566
กระแสข่าวการเปิดตัวร้านขายของเล่นชื่อดังจากประเทศจีน อย่าง “POPMART” ได้สร้างเสียงฮือฮาให้กับเหล่าบรรดานักสะสมชาวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเปิดตัวสาขาแรกในประเทศไทย และในร้านยังได้จำหน่ายสินค้าตัวพิเศษที่มีขายแค่ในประเทศไทยเท่านั้นและมีจำนวนจำกัด ทำให้นักสะสมและคนที่สนใจแห่ไปรอกันตั้งแต่คืนก่อนเปิดร้าน และในวันเปิดร้าน ได้เกิดเหตุความชุลมุนระหว่างการต่อคิวเข้าร้าน มีทั้งคนเป็นลมและล้ม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มิจฉาชีพได้ฉวยโอกาสนำมาสร้างเป็นมุกหลอกขายของเล่นอ้างชื่อ “POPMART” ผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอม ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก วันนี้ ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate🚀 จะพาทุกคนไปดูกันว่า เพจปลอมหลอกขายสินค้ามีรูปแบบและกลวิธีการหลอกอย่างไรบ้าง
สร้างเพจปลอม เล่าเรื่องราวให้น่าสนใจและยิงโฆษณา
ขั้นแรก มิจฉาชีพจะสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา โดยใช้ชื่อ “Frances Cannon” อ้างตัวเป็นเพจขายสินค้าออนไลน์หลายประเภท ทั้ง เครื่องใช้ภายในบ้าน ลำโพงและของเล่น และเพจนี้ได้จ่ายเงินซื้อโฆษณาเพื่อทำให้คนเห็นโพสต์อย่างกว้างขวาง
จากนั้นมิจฉาชีพจะสร้างเรื่องราวให้น่าติดตามและเป็นเหตุเป็นผล เพื่อหลอกล่อให้คนหลงเชื่อ จากฐานข้อมูลของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พบว่า เพจปลอมหลอกขายสินค้า จะเปลี่ยนสถานการณ์ไปตามความสนใจของสังคม ณ ตอนนั้น เช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะอ้างว่า ต้องปิดร้านด่วน เนื่องจากขาดทุน จึงต้องนำสินค้ามาล้างสต็อก จัดโปรโมชันลดราคาที่ถูกกว่าปกติ และนำภาพสินค้าจริง มาแอบอ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สินค้าเป็นของแท้ รวมถึงกรณีล่าสุด
ที่อ้างว่า จัดการงานวันเปิดร้านไม่ดี ทำให้เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นจึงอยากจะตอบแทนแฟน ๆ ด้วยการลดราคาสินค้า เหลือเพียง 1550 บาท พร้อมส่งฟรี ซึ่งราคาปกติของสินค้าชนิดนี้ อยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาท
จุดที่น่าสังเกต คือ เพจปลอมหลอกขายสินค้า มักตั้งโปรโมชันที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาด เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ และมักใช้คำพูดที่เร่งเร้าให้ตัดสินใจซื้อ เช่น ลดราคาเฉพาะ 10 นาทีนี้ สินค้าเหลือเพียงไม่กี่ชิ้น พร้อมสร้างบัญชีม้า มารีวิวสินค้า เพิ่มสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น ได้รับสินค้าจริง สินค้าดีมาก สินค้ามีคุณภาพ เป็นต้น
เมื่อมีคนหลงเชื่อ และต้องการสั่งซื้อสินค้า จะต้องกดลิงก์เพื่อออกจากเพจเฟซบุ๊ก ยังไปเว็บไซต์อื่น หากมีการสั่งซื้อและโอนเงินเรียบร้อยแล้ว สินค้าที่เราได้รับ อาจมีหลายกรณี
- ได้รับสินค้าจริง แต่สินค้านั้นเป็นของปลอม ของผิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ
- ได้รับสินค้าชนิดอื่น ที่ไม่ได้สั่ง
- ไม่ได้รับสินค้าชนิดใดเลย เสียเงินฟรีนั่นเอง
4 ข้อ เช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อของออนไลน์
ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ ควรตรวจสอบให้แน่ใจ ว่าเพจเฟซบุ๊กนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้
- เพจแท้ต้องมีเครื่องหมายติ้กถูก หรือ verify badge
- ยอดผู้ติดตาม ต้องเหมาะสม หากน้อยเกิน เสี่ยงโดนหลอก แต่จำนวนผู้ติดตามเยอะ ก็ใช่จะปลอดภัย เพราะคนร้ายสามารถซื้อ หรือเขียนหลอกตาได้
- ดูความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก โดยไปที่หน้าเพจ กด About > ดูความโปร่งใสของเพจ Page transparency See all จะโชว์ข้อมูลทั้งหมด ว่าเพจนี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่ เปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นหรือไม่ และแอดมินมาจากประเทศไหน
- ก่อนโอนเงิน ต้องตรวจสอบชื่อบัญชีให้แน่ใจ ร้านใหญ่ ควรเป็นชื่อองค์กร หากเป็นชื่อบุคคล เช็กให้ชัวร์ว่าไม่ใช่บัญชีม้า และลองค้นในกูเกิ้ล เผื่อเจอประวัติการหลอก
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter