29 กรกฎาคม 2566
กระบวนการหลอกลวงของมิจฉาชีพจะเริ่มจากการส่งข้อความสั้น (SMS) จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ระบุข้อความว่า
“ ThaiID อัปเดตข้อมูลเรียบร้อยแล้วโปรดยืนยันตัวตนของคุณ ”
พร้อมแนบลิงก์มากับข้อความข้างต้น หากเผลอกดลิงก์ไป จะเป็นการให้เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยมีการสร้างบัญชีปลอมและใช้สัญลักษณ์ของแอปพลิเคชันจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไลน์ปลอมจะใช้ชื่อว่า “ Thai ID ” จงใจตั้งให้คล้ายกับแอปพลิเคชันจริง “ThaID” หากไม่สังเกต อาจตกเป็นเหยื่อได้
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบไปที่ เว็บไซต์ของกรมการปกครอง ยืนยันว่า ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ (LINE Official Account) ในการติดต่อกับประชาชน และไม่มีนโยบายในการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชนแต่อย่างใด และฝากเตือนประชาชนว่า ห้ามกดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ หรือให้อัพเดทข้อมูล หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว
หากเหยื่อหลงเชื่อและกดเพิ่มเพื่อนทางไลน์ มิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมการปกครองจะแกล้งสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ ระหว่างนั้นจะส่งลิงก์ให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน ThaID ปลอม มีการขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .APK) แล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน วัน เดือน ปีเกิด หลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อหวังให้ผู้เสียหายกรอกรหัสชุดเดียวกับรหัสการเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารในโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ รวมไปถึงขอสิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยในขั้นตอนนี้ หากเหยื่อไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนเหยื่อว่าจะต้องทำอย่างไร หรือในบางครั้งจะโทรศัพท์มาบอกวิธีการด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ทำให้เสมือนโทรศัพท์ค้าง จากนั้นมิจฉาชีพจะนำรหัสที่เหยื่อเคยตั้งหรือกรอกไว้ก่อนหน้านี้ทำการเข้าแอปพลิเคชันธนาคารแล้วโอนเงินไปยังบัญชีม้าที่เปิดรอไว้
มุกเดิม วนซ้ำ เปลี่ยนแค่ชื่อหน่วยงาน !
จากสถิติของตำรวจไซเบอร์ พบว่า มิจฉาชีพจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา สถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ สร้างเรื่องมาหลอกลวงประชาชนให้ตกเป็นเหยื่อ ทั้ง การได้รับรางวัล สิทธิพิเศษ หลอกให้อัปเดตข้อมูล หรือ ติดต้ังแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะมีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานที่แอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่โดนแอบอ้างแล้ว ได้แก่ กรมสรรพากร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กรมที่ดิน, การไฟฟ้า, การประปา, สายการบิน Thai Lion Air, บริษัท ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์ และโครงการของรัฐต่าง ๆ
8 คำเตือนตำรวจไซเบอร์ รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ !
1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ หรือให้อัปเดตข้อมูล หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว
2.ตรวจสอบว่ามาจากหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของกรมการปกครอง ที่หมายเลข 1548 และสามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน ThaID จริงได้ที่ เว็บไซต์กรมการปกครอง เท่านั้น
3.กรมการปกครอง ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ (LINE Official Account) ในการติดต่อกับประชาชน และไม่มีนโยบายในการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชนแต่อย่างใด
4.ไม่ดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานแอปพลิเคชัน ThaID ให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
5.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
5.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
6.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใด ๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ หากตั้งซ้ำกันให้รีบเปลี่ยนทันที และไม่บันทึกรหัสไว้ในโทรศัพท์มือถือ
7.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
8.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter