11 กรกฎาคม 2566
📌 บทสรุป : ❌ ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ ❌
-เอกสารที่แชร์เป็นของไปรษณีย์ไทยจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพ
-สแกน QR CODE แล้วเงินหาย มีความเป็นไปได้จริงน้อยมาก เพราะก่อนจะโอนเงินออกไปได้ จะต้องผ่านหลายขั้นตอน เช่น การติดตั้งแอป การกรอกข้อมูล ฯลฯ
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับ บมจ.ไปรษณีย์ไทย ยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ รูปภาพเอกสารที่แชร์กันเป็นเอกสารจริงของไปรษณีย์ไทย เขตนำจ่ายภาษีเจริญ 5 ซึ่งเป็นแผนกในสังกัดของไปรษณีย์ภาษีเจริญที่ได้ส่งใบนัดนำจ่ายไว้ที่บ้านผู้รับที่ไม่มีคนอยู่บ้านและไม่สะดวกรับ ให้สามารถติดต่อนัดหมายกับบุรุษไปรษณีย์ให้นำจ่ายพัสดุได้ใหม่อีกครั้ง แต่เพื่อเป็นการป้องกันมิจฉาชีพ ไปรษณีย์ไทยได้ยกเลิกนัดหมายเวลาในการนำจ่ายใหม่ผ่านระบบ QR CODE โดยจะติดต่อผู้รับเพื่อนัดหมายนำจ่ายใหม่ผ่านโทรศัพท์
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า บมจ.ไปรษณีย์ไทย ยืนยันผ่าน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ว่า ข้อความเตือนดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากรูปภาพเอกสารที่แชร์กันนั้น เป็นเอกสารของไปรษณีย์ไทยจริง จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไม่อยู่บ้านและไม่สามารถรับพัสดุได้ สามารถสแกน QR CODE เพื่อนัดหมายวันให้ไปส่งใหม่ได้
👉 อย่างไรก็ตาม ข้อความและภาพดังกล่าว มีการส่งต่อกันมานานเกือบ 1 ปีแล้ว และยังมีกรณีที่พบว่า ข้อความเตือนดังกล่าวถูกส่งควบคู่กับประเด็นอื่นอีกด้วย
👉 จากฐานข้อมูล ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พบว่า รูปภาพนี้ถูกแชร์มาพร้อมกับข้อความ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ระบุว่า
“เริ่มโดนกันแล้วภัยรูปแบบใหม่รับจดหมายลงทะเบียนแล้วเค้าให้สแกนคิวอาร์โค้ดโดนไปแสนกว่าบาทจากบัตรเครดิต เปลี่ยนจาก call center เป็นหนังสือราชการ ถึงตัวเลย ระวัง ห้ามสแกนบาร์โค๊ตเด็ดขาด… ให้บอกคนในบ้านทุกคนด้วย อันตรายจริงๆ ครับ”
พร้อมรูปใบนัดนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ ดังรูปด้านล่าง
👉 ต่อมาในเดือนกันยายน 2565 พบข้อความคล้ายกัน และถูกนำไปโยงเข้ากับรูปใบสั่งค่าปรับจราจรที่ไม่มีรูปภาพรถขณะกระทำผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารปลอมจากมิจฉาชีพที่หวังหลอกและดูดเงิน
“ค่าปรับจราจร จะต้องมีรูปรถเราตอนทำผิดกฎจราจรด้วยนะครับ ส่งมาเป็นใบแบบไม่มีรูป ไม่ใช่จดหมายราชการ แต่เป็นแก๊งค์ดูดเงินนะครับ เริ่มโดนกันแล้วภัยรูปแบบใหม่รับจดหมายลงทะเบียนแล้วเค้าให้สแกนคิวอาร์โค้ดโดนไปแสนกว่าบาทจากบัตรเครดิต เปลี่ยนจาก call center เป็นหนังสือราชการ ถึงตัวเลย ระวัง ห้ามสแกนบาร์โค๊ตเด็ดขาด… ให้บอกคนในบ้านทุกคนด้วย อันตรายจริงๆ”
👉 ข้อเท็จจริงสำหรับกรณีนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ยืนยันว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นเอกสารการแจ้งเตือนครั้งที่ 2 หลังจากที่มีส่งเอกสารเตือนครั้งแรกที่มีภาพขณะกระทำผิด แล้วผู้กระทำผิดยังไม่ชำระเงินค่าปรับ
ผู้ที่ได้รับใบสั่งจราจรสามารถตรวจสอบว่า ใบสั่งที่ได้รับ เป็นของจริงหรือไม่ ได้จากเว็บไซต์ ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน
👉 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2566 ข้อความและรูปเตือนห้ามสแกน QR CODE ของไปรษณีย์ไทย กลับมาแพร่กระจายอีกครั้ง ในลักษณะการบันทึกหน้าจอมาจากเพจเฟซบุ๊ก
❌ดังนั้นข้อความและรูปภาพที่แชร์กันนี้ ไม่เป็นความจริง งดส่งต่อข้อมูลที่สร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง❌
👉 สำหรับกรณีที่ “สแกนแล้ว ถูกดูดเงินในบัญชีจนหมดบัญชี” ในทันทีนั้น มีความเป็นไปได้จริงน้อยมาก เพราะก่อนจะโอนเงินออกไปได้ จะต้องผ่านการสั่งงานและกดยืนยันหลายขั้นตอน ซึ่งคนร้ายมักจะใช้วิธีการ หลอกให้ติดตั้งแอป หลอกให้กรอกข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการโจรกรรมอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนมากกว่าการสแกนในคราวเดียว
👉 อย่างไรก็ตาม ก่อนเปิดกล้องหรือกดสแกน QR CODE ใด ๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจ ว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเมื่อสแกน ให้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นปลายทางที่ต้องการหรือไม่ โดยเฉพาะตรวจสอบที่อยู่ URL ของเว็บไซต์ หากพบความผิดปกติ สามารถกดยกเลิก ปิด หรือเพิกเฉยได้ทันที
👉 สามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้จาก ชัวร์ก่อนแชร์ ภัยไซเบอร์ : รู้เท่าทัน การใช้ QR Code
11 กรกฎาคม 2566
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์และเสาวภาคย์ รัตนพงศ์
บันทึกการแก้ไข : 11 กรกฎาคม 2566 – เพิ่มคำชี้แจงจาก บมจ.ไปรษณีย์ไทย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter