30 มิถุนายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- นักเชี่ยวชาญยืนยันว่าการใช้ห้องเปลี่ยนชุดร่วมกับนักกีฬาสตรีข้ามเพศ ไม่ใช่สาเหตุทำให้วัยรุ่นหญิงอเมริกันมีแนวคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น
- ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นหญิงอเมริกันมีแนวคิดฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ รวมถึงพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่อายุยังน้อย
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ นิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา หนึ่งในผู้สมัครตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2024 กล่าวระหว่างการปราศรัยทางสถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2023 โดยอ้างว่า ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นหญิงอเมริกันมีความคิดฆ่าตัวตายมากถึง 1 ใน 3 เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจที่ต้องใช้ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าร่วมกับนักกีฬาสตรีข้ามเพศ หรือชายที่ผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อการข้ามเพศเป็นหญิง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Politifact พบว่า แม้วัยรุ่นหญิงจะมีแนวคิดฆ่าตัวตายมากขึ้นจริง แต่ไม่พบหลักฐานว่าการเพิ่มขึ้นของกีฬาสตรีข้ามเพศและการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นหญิงมีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด
เมื่อต้นปี 2023 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยแพร่แบบสอบถามนักเรียนไฮสคูลประมาณ 17,000 ราย ที่สำรวจเอาไว้เมื่อปี 2021
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนหญิง โดยแบ่งเป็นคนรักต่างเพศ (Heterosexual) 61.6% คนรักสองเพศ (Bisexual) 20% คนที่เลือกอื่น ๆ และกำลังตั้งคำถามกับเพศตนเอง 13.7% และคนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน 3.7%
ผลสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนหญิงไฮสคูลมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพบว่า
30% มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง
23.6% เคยวางแผนฆ่าตัวตาย
13.3% เคยพยายามฆ่าตัวตาย
แบบสอบถามพบว่า ช่วงปี 2021 มีวัยรุ่นหญิงอเมริกันถึง 3 จาก 5 ราย ที่พบกับความเศร้าและความสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าวัยรุ่นชายถึง 2 เท่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 60% และเพิ่มสูงที่สุดตั้งแต่มีการทำแบบสอบถามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
CDC วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นหญิงอเมริกันมีความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น มีอยู่หลายปัจจัย ทั้งการขาดโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรุนแรงในชุมชน ปัญหาการถูกกีดกันทางสังคม รวมถึงปัญหาความโดดเดี่ยวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
ดอนนา แจ็คสัน นากาซาวา เจ้าของงานเขียน Girls on the Brink: Helping Our Daughters Thrive in an Era of Increased Anxiety, Depression, and Social Media ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNN ว่า เด็กหญิงทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความเศร้าและความผิดหวังในอายุที่น้อยกว่าในอดีตอย่างมาก ปัจจัยสำคัญมาจากอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ เด็กผู้หญิงมักถูกตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอกและถูกปฏิบัติเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าเด็กผู้ชาย
งานวิจัยของ Pew Research Center ในปี 2022 วัยรุ่นอเมริกันเข้าถึงการใช้สมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้นจาก 74% เมื่อช่วงปี 2014-2015 เป็น 95% ในปี 2022 โดยพบว่า 97% ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน และ 46% ยอมรับว่าใช้อินเทอร์เน็ทเกือบตลอดเวลา
จีน ทเวนเก ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตต อธิบายว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมักเกิดขึ้นนอกรั้วโรงเรียน ทั้งการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น คบหากับเพื่อนในชีวิตจริงลดลง รวมถึงการอดนอนเพราะการเสพติดโซเชียล
ส่วนการอ้างว่า การใช้ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าร่วมกับนักกีฬาสตรีข้ามเพศ ทำให้วัยรุ่นหญิงมีความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น ถูกนักวิชาการตีความว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง
คาร์ล ไฟลส์เชอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ Boston Child Study Center ในลอส แองเจลิส อธิบายว่าการศึกษาด้านลักษณะทางระบาดวิทยาและข้อมูลจากแบบสอบถาม ทำให้เรารู้ถึงปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น ความยากจน การละเมิดผู้เยาว์ ความเจ็บป่วยที่ไร้ทางเยียวยา การระบุตัวตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผลกระทบทางสังคมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ห้องแต่งตัวหรือการใช้ห้องน้ำร่วมกันแต่อย่างใด
ควินติน เอ. ฮันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านการบำบัดชีวิตคู่และครอบครัว จากมหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง ชี้แจงว่า ไม่พบงานวิจัยที่ใดที่พบว่า การใช้ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าร่วมกับสตรีข้ามเพศ มีผลต่อการคิดฆ่าตัวตายในผู้หญิงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สัดส่วนของคนข้ามเพศในโรงเรียนไฮสคูลของสหรัฐอเมริกายังมีน้อยมาก ผลสำรวจของ CDC เมื่อปี 2017 พบว่ามีเพียง 1.8% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก CDC ยังพบว่านักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มนักเรียนทั่วไป (Cisgender) 3-4 เท่า
ข้อมูลพบว่า นักเรียนกลุ่ม LGBTQ+ ต้องพบปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตถึง 52% และนักเรียนกลุ่ม LGBTQ+ ถึง 1 ใน 5 ที่พยายามฆ่าตัวตายเมื่อปีที่แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jun/06/nikki-haley/nikki-haley-falsely-links-transgender-athletes-wit/
https://www.cdc.gov/media/releases/2023/p0213-yrbs.html
https://www.pewresearch.org/internet/2022/08/10/teens-social-media-and-technology-2022/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter