ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
ตามที่มีการแชร์เตือนให้เตรียมรับมือกับอุณหภูมิ 40-50 องศา โดยเลี่ยงน้ำเย็นน้ำแข็ง เพราะจะทำให้เส้นเลือดปริแตก นั้น
บทสรุป ⚠️ จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์
- การดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ในปริมาณมาก มีส่วนทำให้เกิดหลอดเลือดหดตัวได้ ตามกลไกการปรับตัวของร่างกาย
- แต่กรณีที่ทำให้เส้นเลือดแตก ตาบอด หรือ สโตรกนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เช่น มักจะเกิดกับผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด
- ส่วนการดื่มน้ำร้อนตามที่แชร์แนะนำ อาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในสภาวะอากาศร้อนจัด
- ดังนั้น ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยอาจจะเป็นน้ำที่อุณหภูมิห้อง หรือ อุณหภูมิต่ำกว่าความร้อนภายนอก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
- ส่วนการดื่มน้ำเย็น อาจใช้วิธีค่อย ๆ ดื่ม หรืออมไว้ในปากก่อนค่อยกลืน
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับ พ.อ.นพ.วิริสสร วงศ์ศรีชนาลัย อายุรแพทย์ โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า เมื่ออากาศร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำเย็นจัดในปริมาณมากคราวเดียวอาจส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นกลไกการปรับตัวของร่างกายเพื่อรับกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“แต่ถามว่า จะถึงขั้นที่เส้นเลือดจะตีบขณะที่เป็นสโตรกไหม หรือว่า ที่บอกว่า เอาเท้าแช่น้ำ แล้วตาบอดนั้น ลักษณะนี้เกิดได้จริง แต่ว่าเกิดได้น้อย แต่มักเกิดกับคนไข้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดอยู่แล้ว เช่น คนที่มีหินปูนเกาะที่หลอดเลือด มีพวกเส้นเลือดสมองตีบบางส่วนอยู่แล้ว แล้วพอมันหดตัวลง การไหลของเลือดมันก็น้อยลง หรือกระทั่งที่ลูกตาก็เช่นกัน เส้นเลือดที่เลี้ยงลูกตา เล็กนิดเดียว พอหดตัวก็เกิด ตาบอดชั่วคราวได้ พอเส้นเลือดคลายตัวก็หาย ส่วนเรื่องเส้นเลือดแตก ก็เป็นกลไกตรงกันข้ามกัน เมื่อหดแล้วเกิดการคลายตัว ทำให้เส้นเลือดที่เปราะอยู่แล้ว เกิดการปริแตกง่ายเช่นกัน” พ.อ.นพ.วิริสสร กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการป่วย หากต้องการกินน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ที่มีความเย็นจัดแตกต่างจากอุณหภูมิในอากาศมาก ๆ ให้ใช้วิธีค่อย ๆ ดื่ม หรืออมไว้ในปากก่อนกลืน เพื่อทำให้สมองรู้สึกและปรับตัวก่อน รวมทั้งการอาบน้ำ ราดน้ำ ใช้การราดในตำแหน่งที่ไกลหัวใจมากที่สุดก่อน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวทางสรีระ
สำหรับคำแนะนำที่ให้ดื่มน้ำร้อนในสภาพอากาศร้อนนั้น อาจก่อผลเสียในทางตรงกันข้ามได้ เพราะเป็นการสะสมความร้อนเพิ่มในร่างกายที่สูงเกินกว่าปกติ
พ.อ.นพ.วิริสสร ยังมีคำแนะนำแนวปฏิบัติในช่วงที่อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงผิดปกติว่า หากต้องทำงานกลางแจ้งควรจำกัดเวลาและลดลงจากเวลาปกติ ค่อยระวังไม่ให้ร่างกายอุณหภูมิสูงจนเกินไปจนบาดเจ็บจากความร้อน เช่น การดื่มน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่าอากาศอย่างเพียงพอ แต่งกายเหมาะสมกับอากาศ และมีแนวทางระบายความร้อน และเตรียมการดูแลผู้ร่วมงาน รู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้
บทสรุป : สำหรับข้อความที่มีการแชร์กัน เรื่องการไม่ให้ดื่มน้ำเย็นในช่วงอากาศร้อนนั้น มีความจริงเป็นบางส่วน การดื่มน้ำเย็นจัดในปริมาณมาก ส่งผลต่อร่างกาย หรือส่งผลเสียกับผู้ป่วยบางคนได้จริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ หากมีการแชร์ออกไปอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือส่งผลเสียในทางตรงกันข้ามได้
สำหรับอุณหภูมิในประเทศไทยขณะนี้ (14 เม.ย. 66) กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อุณหภูมิสูงสุดราว 37-43 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ เมื่อคำนวณกับความชื้นเป็น ค่าดัชนีความร้อน ที่ร่างกายจะรู้สึก ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับอันตราย คือ อยู่ในช่วง 41-53.9 องศาเซลเซียส ซึ่งแนวทางการป้องกันอันตรายหลัก เป็นการลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่หมวกป้องกันแสงแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฮีตสโตรก
14 เมษายน 2566
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
ตัวอย่างข้อความที่แชร์กัน :
ให้เตรียมรับมือกับอุณหภูมิ 40-50 องศา
ควรดื่มน้ำสะอาด ดื่มช้าๆ หลีกเลี่ยงน้ำเย็น น้ำแข็ง
ขณะนี้ มาเลียเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน
อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
1. หมอบอกว่า หากร้อนถึง 40 องศา ไม่ควรดื่มน้ำเย็นต่อไป เพราะหลอดเลือดเล็กอาจปริหรือระเบิดได้ เพื่อนของหมอคนหนึ่งมาจากข้างนอก ร้อนจนเหงื่อแตก รีบล้างเท้าด้วยน้ำเย็น ผลคือตามองไม่เห็นต้องรีบเรียกรถพยาบาล
2. หากร้อนถึง 38 องศา ก็ปล่อยร่างกายร้อนไป อย่าดื่มน้ำเย็น ให้ดื่มน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น ค่อยๆ ดื่ม อย่ารีบร้อนล้างขาล้างมือหรือส่วนที่ถูกแดดเผา ควรรอสัก 30 นาทีค่อยอาบน้ำ
3. ชายคนหนึ่งร้อนมากรีบอาบน้ำ อาบเสร็จขากรรไกรแข็ง เป็นสโตรคไปเลย **ข้อควรระวัง** ในหน้าร้อนหรือยามคุณอ่อนเพลีย หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็นทันที เพราะมันจะทำให้หลอดเลือดหดเล็ก แล้วเป็นสโตรค
ทำความเข้าใจเรื่อง HEAT STROKE เพิ่มเติมได้จากคลิปนี้
สำหรับเรื่องที่แชร์กันนี้ แชร์วนซ้ำ มีต้นฉบับคล้ายคลึงกับข้อความที่แชร์กันก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 ซึ่งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ควรแชร์ต่อ
ตัวอย่างข้อความที่แชร์กัน (13 มีนาคม 2562)
- เพื่อนแพทย์คนหนึ่งมาหาฉันเพื่อพูดคุยและบอกว่าอากาศร้อนมาก ภายใต้ดวงอาทิตย์มันสามารถเข้าถึง 40 องศาเซลเซียส
เขาพูดว่า: ที่ 40 องศาถ้าคุณดื่มน้ำน้ำแข็งทันทีหลอดเลือดขนาดเล็กอาจระเบิดได้ เพื่อนคนหนึ่งของเขาเพิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อล้างเท้าด้วยน้ำเย็น จากนั้นดวงตาของเขามองไม่เห็นอย่างชัดเจนและเขาก็ตายไป มีเพียงหูเท่านั้นที่ได้ยินเสียง เขากลัวมาก!- อุณหภูมิในบางสถานที่มีถึง 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า แต่อุณหภูมิของความรู้สึกของร่างกายควรสูงกว่า อันตรายไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำเย็น อันตรายเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับ
แม้แต่ล้างมือ / ล้างหน้า / ล้างเท้า คุณจะต้องไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวร้อนที่จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นด้วยน้ำเย็น คุณต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายเย็นลงและปรับเป็นอุณหภูมิในร่ม ดื่มลุค – น้ำอุ่นประมาณ 34 ถึง 36 องศาเซลเซียส- มีผู้ชายที่แข็งแกร่งมาก หมอตรวจเขาที่โรงพยาบาลเมื่อสามปีก่อน
เขาพบชายคนนั้นอีกครั้งและรู้สึกประหลาดใจที่พบว่าเขาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เขาอยู่ในสภาพที่ไม่ดี ชายคนนั้นบอกหมอว่า “เร็ว ๆ นี้ในวันที่อากาศร้อนกลับบ้านเพื่อให้เย็นลงอย่างรวดเร็วจากความร้อนฉันอาบน้ำเย็นทันทีฉันรู้สึกว่าฉันไม่สามารถขยับขากรรไกรได้อย่างถูกต้อง รถพยาบาลส่งฉันไปโรงพยาบาลนั่นช่วยชีวิตฉันไว้ “โปรดจำไว้ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่อากาศร้อนให้หลีกเลี่ยงน้ำเย็นที่จะทำให้เย็นลงเพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรวดเร็ว
ผู้ใหญ่ที่มีเด็กเล็กที่บ้านควรแจ้งผู้ช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้
●สภาพอากาศไม่ปกติ
มันอาจจะดีถ้ามีเครื่องดื่มเย็น ๆ ให้เย็นลง แต่มันอันตรายมาก!
หลีกเลี่ยงการกลืนดื่มดื่มช้าๆโปรดส่งข้อความนี้ไปยังครอบครัวและเพื่อนของคุณ
มันอาจช่วยชีวิต!
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter