วิธีหลอก : แอบอ้างชื่อของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Country Group Holdings) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อุบาย : ใช้เว็บไซต์ และบัญชีไลน์ปลอม หลอกให้ส่งข้อมูลสำคัญ ทำสัญญาเงินกู้ และโอนเงิน
ช่องทาง : เว็บไซต์, แอปพลิเคชันไลน์
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมเว็บไซต์บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงิน หลอกแอดไลน์ อ้างเหตุต้องทำเอกสาร ฉวยข้อมูลสำคัญ และเงินค่าบริการ รวมถึงสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อติดต่อไลน์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลอม เพื่อข่มขู่ หวังให้กลัวจนโอนเงินเพิ่ม ด้าน ‘โฆษก’ แนะให้ระมัดระวังในการกู้เงินลักษณะนี้ พร้อมแนบ “แนวทางป้องกันการถูกหลอกให้กู้เงินออนไลน์”
กรุงเทพฯ 12 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพปลอมเว็บไซต์ของบริษัทผู้ให้บริการด้านการเงิน หลอกแอดไลน์ เพื่อดักเอาข้อมูลสำคัญ และเงินค่าบริการของเหยื่อไป นอกจากนี้ยังสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิด และแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างอีกด้วย
สร้างเว็บไซต์-ไอดีไลน์ปลอม แอบอ้าง เพื่อหลอกให้โอนเงิน
บช.สอท. ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่า ก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกลวงให้กู้เงิน ผ่านเว็บไซต์ปลอมของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง (https://www.cgholdings.co.th/th) เป็นอย่างมาก มิจฉาชีพอาศัยความน่าเชื่อถือขององค์กรประกอบกับความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน มาสร้างความเสียหาย โดยแอบอ้างว่าเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแบบครบวงจร และโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อเสนอที่ดีมากเกินไป เช่น สมัครได้ง่าย, ให้วงเงินไม่อั้น, อนุมัติเร็ว, มีดอกเบี้ยต่ำ, ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร, ใช้เอกสารน้อย, ปลอดภัย และมีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อจนยอมแอดไลน์ เพื่อติดต่อไปขอรายละเอียดเพิ่มเติม
อุบายดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่มิจฉาชีพจะได้ข้อมูลสำคัญ และเงินของเหยื่อไป ผ่านทางการขอข้อมูล เพื่อทำเอกสารสัญญาเงินกู้ รวมถึงแจ้งให้โอนเงินที่อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าอื่น ๆ
ครั้งเดียวคงไม่พอ ! ยังอ้างเหตุต้องโอนเพิ่ม แถมสร้างสถานการณ์ให้เข้าใจผิด
เมื่อเหยื่อโอนเงินไปแล้ว มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อโอนเงินมาเพิ่มเป็นครั้งที่สอง หรือมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผิดบัญชี การโอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือการทำธุรกรรมผิดพลาดก็ตาม ภายหลังจะมีการแนะให้ทางเหยื่อติดต่อไปยังไลน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไลน์ปลอม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ และติดต่อเข้าไปก็จะถูกข่มขู่ว่า “กระทำผิดกฎหมาย” ให้โอนเงินมาเพิ่มอีก
โฆษก บช.สอท. แนะให้ประชาชนระมัดระวังในการกู้เงินลักษณะนี้
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ประชาชนควรพึงระวังการกู้เงินที่โฆษณาชวนเชื่อถึงข้อเสนอที่ดีมากเกินไป ควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากประชาชนจำเป็นต้องกู้เงิน ควรเลือกใช้บริการสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ศึกษารายละเอียดให้ดี รวมถึงต้องมีสัญญากู้ยืมเงินที่ชัดเจน และเป็นธรรมด้วย โดยแนวทางป้องกันการถูกหลอกให้กู้เงินออนไลน์ มีดังนี้
1. ถ้าผู้ให้บริการกู้เงินรายใด แจ้งให้ผู้ขอกู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด ๆ ก็ตาม ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงแน่นอน
2. ตรวจสอบผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)
3. เว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ ใช้เพียงหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนทางไอดีไลน์เท่านั้น
4. ระวังไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้ดีว่า มีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน หรือไม่
5. ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
6. แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ มักจะตั้งชื่อคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเป็นผู้ได้รับอนุญาต ควรสอบถาม หรือหาข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า เป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
7. แอปพลิเคชันเงินกู้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือได้ มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ข่มขู่บุคคลดังกล่าว เพื่อให้ผู้กู้อับอาย และรีบนำเงินมาชำระโดยเร็ว
8. ไม่ควรหลงเชื่อ เพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่าง ๆ อย่างสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝากที่คล้ายกันกับการขอกู้ที่ธนาคาร
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย, เบญจมา ส้มเช้า
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter