สรุปไทม์ไลน์ “ยุบสภา” 14 ครั้ง แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย | FACTSHEET

สรุปไทม์ไลน์ “ยุบสภา” 14 ครั้ง แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย | ชัวร์ก่อนแชร์ เลือกตั้ง 66
ชัวร์ก่อนแชร์ เลือกตั้ง 66 โดย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ | กัญญาลักษณ์ ยอดเยี่ยมแกร, ปพิชยา นัยเนตร, พีรพล อนุตรโสตถิ์


การยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 นับเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ซึ่งการยุบสภาในแต่ละครั้ง มีสาเหตุและบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ดังข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รวบรวมมานำเสนอในบทความนี้

รู้จัก “ยุบสภา”

         “ยุบสภา” หรือคำเต็มคือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Dissolution of Parliament หมายถึง การทำให้การดำรงสภาพของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกันก่อนครบกำหนดตามวาระ โดยพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อนำไปสู่จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
         ประเทศไทย เคยมีการประกาศ “ยุบสภา” มาแล้ว 15 ครั้ง โดยแบ่งเป็น การยุบสภาผู้แทนราษฎร 14 ครั้ง และ การยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 1 ครั้ง


การยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีเหตุผลว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนมากได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกภาพ และประกอบกับสมาชิกที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุม จึงยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อจะได้แต่งตั้งขึ้นใหม่ ทั้งนี้ นับเป็นการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว



ยุบสภา กับ การกำหนดวันเลือกตั้ง

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 103 ระบุว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน และภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ขณะที่มาตรา 102 ระบุว่า หากอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง (ตามวาระ) จะต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน


เหตุผลในการ “ยุบสภา”

         ในการยุบสภาแต่ละครั้ง มักจะมีองค์ประกอบของมูลเหตุ เหตุการณ์ และสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในบางครั้งอาจจะสอดคล้องกับเหตุผลที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ใน “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร” แต่ละฉบับ ในปัจจุบันสามารถค้นหาและเข้าถึงพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับได้ผ่านทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา


ไทม์ไลน์ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

พ.ศ. 2481 / ค.ศ. 1938
การยุบสภาครั้งที่ 1

• นายกรัฐมนตรี : พระยาพหลพลหยุหเสนา
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 11 กันยายน พ.ศ. 2481
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : ไม่ระบุในพระราชกฤษฎีกา
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1106068.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในรัฐสภา


เหตุผลที่ระบุในแถลงการณ์โดยสังเขป : เนื่องจากรัฐบาลรู้สึกว่าไม่สามารถจะบริหารราชการของประเทศในความไว้วางใจของสภาฯ ได้ โดยเฉพาะจากกรณีที่มีการเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ โดยเสนอขอให้รัฐบาลจัดทำรายละเอียดของงบประมาณประจำปีในเวลาเสนองบต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากเห็นว่าในการพิจารณารับหลักการขั้นต้นไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำรายละเอียดจำนวนหลายร้อยหน้า และก็ได้มีการพิจารณาข้อมูลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและปรับแก้มาหลายขั้นแล้ว รวมทั้งรายละเอียดบางข้อก็ไม่อาจเปิดเผยได้ ซึ่งปรากฏว่า มีการรวบรัดลงมติรับหลักการ โดยที่รัฐบาลไม่มีโอกาสแถลงชี้แจงอีก คณะรัฐมนตรีจึงมีความประสงค์จะขอลาออก แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์โลกยังปั่นป่วนคับขัน และประกอบกับจะต้องเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระนคร รัฐบาลคณะนี้จึงควรบริหารราชการต่อไป นายกรัฐมนตรีจึงยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่


พ.ศ. 2488 / ค.ศ. 1945
การยุบสภาครั้งที่ 2
• นายกรัฐมนตรี : ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : ไม่ระบุในพระราชกฤษฎีกา
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1121780.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : หาทางออกหรือแก้ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมือง

เหตุผลที่ระบุในแถลงการณ์โดยสังเขป : ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลเห็นว่า เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เพราะมีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง นับว่าเป็นเวลานานเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากเหินห่างจากเจตนาและความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร โดยเฉพาะกรณีที่ สภาฯ ลงมติไม่เห็นชอบและให้ตัดร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามที่รัฐบาลเสนอ รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรได้เลือกตั้งผู้แทนของตนใหม่


พ.ศ. 2519 / ค.ศ. 1976
การยุบสภาครั้งที่ 3

• นายกรัฐมนตรี : หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 12 มกราคม พ.ศ. 2519
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 4 เมษายน พ.ศ. 2519
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1330006.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรค แต่ไม่มีพรรคใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาจัดรัฐบาล เป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ไม่สามารถยุติลงได้ จึงเห็นสมควรให้มีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่


พ.ศ. 2526 / ค.ศ. 1983
การยุบสภาครั้งที่ 4

• นายกรัฐมนตรี : พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 19 มีนาคม พ.ศ. 2526
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 18 เมษายน พ.ศ. 2526
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1517361.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในรัฐสภา

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะรัฐบาลได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ครั้ง ประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความคิดเห็นก้ำกึ่งกัน หากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการใหม่อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ จึงสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่


พ.ศ. 2529 / ค.ศ. 1986
การยุบสภาครั้งที่ 5

• นายกรัฐมนตรี : พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1566887.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในรัฐสภา

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติ เป็นเหตุให้พระราชกำหนดนั้นตกไป ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค หากให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไปอาจเกิดผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ


พ.ศ. 2531 / ค.ศ. 1988
การยุบสภาครั้งที่ 6

• นายกรัฐมนตรี : พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 29 เมษายน พ.ศ. 2531
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1584784.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในรัฐสภา

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : นับตั้งแต่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม
พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา พรรคการเมืองหลายพรรคไม่สามารถที่จะดำเนินการในระบอบพรรคการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่ยอมรับความคิดเห็นข้างมากของสมาชิกในพรรคของตน อันขัดต่อวิถีประชาธิปไตย และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเห็นสมควรให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่


พ.ศ. 2535 / ค.ศ. 1992
การยุบสภาครั้งที่ 7

• นายกรัฐมนตรี : นายอานันท์ ปันยารชุน
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 13 กันยายน พ.ศ. 2535
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1625398.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : หาทางออกหรือแก้ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมือง

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : ภายหลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กราบบังคมทูลฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่


พ.ศ. 2538 / ค.ศ. 1995
การยุบสภาครั้งที่ 8
• นายกรัฐมนตรี : นายชวน หลีกภัย
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1658096.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : สภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้นประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล จากภาวการณ์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองเกิดความแตกแยกจนไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศ แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นอีกก็ตามก็ไม่ ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวก็ไม่สามารถสิ้นสุดลง จึงเห็นสมควรให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่


พ.ศ. 2539 / ค.ศ. 1996
การยุบสภา ครั้งที่ 9

• นายกรัฐมนตรี : นายบรรหาร ศิลปอาชา
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 27 กันยายน พ.ศ. 2539
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1670492.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองอีกหลายพรรคเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวแต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมจึงเห็นควรที่จะมีการยุบสภา


พ.ศ. 2543 / ค.ศ. 2000
การยุบสภาครั้งที่ 10
• นายกรัฐมนตรี : นายชวน หลีกภัย
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 6 มกราคม พ.ศ. 2544
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/19429.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : หลังคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อเร่งดำเนินการทั้งหลายให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเร่งแก้ไขภาวะวิกฤติของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองลุล่วงไปในระดับหนึ่ง ทางด้านนิติบัญญัติ ก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและจัดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปีละสองสมัย ครบทั้งแปดสมัยประชุม ตลอดระยะเวลาสี่ปีของอายุสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จนสามารถตราขึ้นใช้บังคับเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นไปโดยเรียบร้อย จึงเห็นสมควรที่จะคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร


พ.ศ. 2549 / ค.ศ. 2006
การยุบสภาครั้งที่ 11

• นายกรัฐมนตรี : พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 2 เมษายน พ.ศ. 2549
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/182649.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : เพื่อแก้ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมือง

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้วนั้น ต่อมาเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้รัฐบาลพยายามดำเนินการขอเปิดอภิปรายทั่วไปฯ แล้วก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ดังนั้นจึงคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป


พ.ศ. 2554 / ค.ศ. 2011
การยุบสภาครั้งที่ 12

• นายกรัฐมนตรี : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1877734.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : จากวิกฤติการณ์ภายในประเทศทั้งในด้านผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำและเกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ รัฐบาลได้เข้ามาคลี่คลายปัญหาดังกล่าว กระทั่งสามารถฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ ด้านปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมก็ได้รับการแก้ไขโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนผ่อนคลายความรุนแรงลงแล้ว กอปรกับรัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป


พ.ศ. 2556 / ค.ศ. 2013
การยุบสภาครั้งที่ 13

• นายกรัฐมนตรี : นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1992975.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : เพื่อแก้ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมือง

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาด้วยสันติวิธีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจยุติปัญหาดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ และให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง


พ.ศ. 2566 / ค.ศ. 2023
การยุบสภาครั้งที่ 14

• นายกรัฐมนตรี : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
• วันประกาศพระราชกฤษฎีกา : 20 มีนาคม พ.ศ. 2566
• กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป : ไม่ระบุในพระราชกฤษฎีกา มอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด
• ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A022N0000000000100.pdf
• สาเหตุและรายละเอียดการยุบสภา : สภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ครบ 4 ปี

เหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาโดยสังเขป : เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง


การยุบสภาแต่ละครั้ง เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และยังเป็นการส่งสัญญาณแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าสู่การใช้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นเสี่ยงร่วมกระทำผิด

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” เข้าป้าย

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย “ธัญพร มุ่งเจริญพร” พลิกชนะ “พรชัย มุ่งเจริญพร” แชมป์เก่าแบบขาดลอย คว้าเก้าอี้มาครอง นั่งนายก อบจ.หญิงคนแรกของจังหวัด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าคึกคัก

ภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าค่อนข้างคึกคัก มีประชาชนทยอยใช้สิทธิต่อเนื่อง ยังไม่มีรายงานการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ปชช.ตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ท่ามกลางสายฝน

ชาวนครศรีธรรมราช ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ท่ามกลางสายฝน กกต.เผยภาพรวมครึ่งวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีรายงานการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง