สธ. 18 ก.ค. – นักวิจัยคณะวิทย์ฯ ม.มหิดล ชี้ผลวิจัยประสิทธิภาพวัคซีนโควิดที่ฉีดทั่วโลก ช่วยลดการเสียชีวิตของมนุษย์ได้ถึง 19.8 ล้านคน ส่วนไทยตั้งแต่ฉีดวัคซีนเมื่อ 8 ธ.ค.63-3 ก.ค.65 ช่วยลดการเสียชีวิตถึง 490,000 คน พร้อมย้ำวัคซีนมีประโยชน์ แต่ภูมิคุ้มกันลดตามกาลเวลา จำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเวลาที่เหมาะสม
รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิต มีตีพิมพ์จากกลุ่มวิจัย Imperial College London ซึ่งทำวิเคราะห์ข้อมูลการระบาด โดยการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.63-8 ธ.ค.64 ใน 185 ประเทศทั่วโลก พบว่า วัคซีนสามารถช่วยชีวิต หรือเซฟชีวิตมนุษย์ได้ประมาณ 19.8 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย พบว่าสามารถเซฟชีวิตคนได้ถึง 382,600 คน และเมื่อมีการศึกษาวิจัยต่อ ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.63-3 ก.ค.65 พบว่าสามารถช่วยชีวิตคนไทยได้รวมแล้ว 490,000 คน และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทางอ้อม
รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า ปกติอัตราการเสียชีวิตจากโควิดในแต่ละกลุ่มอายุไม่เท่ากัน โดยคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตถึง 10% แต่ในคนทุกกลุ่มวัยพบว่ามีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 1.15% ทั้งนี้ เป็นช่วงที่ไม่มีวัคซีน แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อมีภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีนจะค่อย ๆ ลดลงตามกาลเวลา จึงจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยสรุปวัคซีนมีประโยชน์ รักษาชีวิต และภูมิคุ้มกันก็จะลดลงได้ คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจะมีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเวลาที่เหมาะสม. -สำนักข่าวไทย