ศาลาว่าการ กทม. 6 ก.ค. – ผู้ว่าฯ กทม.ร่วมประชุมสภา กทม.สาระสำคัญเรื่องงบฯ 66 เปิดให้ประชาชนถ่ายทอดสดครั้งแรก พร้อมขอมวลชนลาดกระบังอย่ากดดันตน ยืนยันตรวจสอบตามหลักการ และความยุติธรรม ที่ยื่นลาออกก็ยังไม่พบว่ามีเรื่องทุจริต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ.2565 ร่วมกับสมาชิกสภากทม.และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือการถ่ายทอดสดให้ประชาชนสามารถรับชมเป็นครั้งแรก รวมทั้งไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในการอภิปรายทั้งคดีแพ่งและอาญา ส.ก. และผู้ที่ร่วมประชุมระมัดระวังเรื่องคำพูด การกล่าวอ้างถึงบุคคลที่ 3
นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมจะมีการหารือที่สำคัญคือการพิจารณางบประมาณ กทม.ปี 2566 และเรื่องการขอให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) กลับมาอีกครั้งเพื่อให้มาทำหน้าที่ร่วมกับ ส.ก.
ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้จะยังไม่มีการบรรจุเรื่องเข้าวาระการประชุมแต่หากสภา มีข้อซักถาม ก็พร้อมที่จะตอบคำถาม เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาและแก้ปัญหาหนี้สินที่ผูกพันเกี่ยวกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า
ผู้ว่าฯ กทม. ยังเผยถึงประเด็นการตรวจสอบผู้อำนวยการเขตลาดกระบังที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้มีตัวแทนชุมชนในเขตลาดกระบังมาร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้อำนวยการเขต หลังจากมีกระแสข่าวว่าเกิดการทุจริต และ ผอ.คนดังกล่าวได้มีการยื่นใบลาออกไปแล้ว ย้ำขออย่านำมวลชนมากดดันกระบวนการทำงานจนผิดสังเกต เรื่องนี้หากไม่มีมูลความจริงก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการต่อไป สำหรับเรื่องหนังสือลาออก ของผอ.เขตคนดังกล่าว หากยื่นมาจริง คาดว่าเอกสารจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขอยืนยันว่าจนขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดใด ๆ
ส่วนในวันพรุ่งนี้ที่จะเริ่มเทศกาลกลางแปลง โดยภาพยนตร์เรื่องแรก ภายที่ลานคนเมือง คือ 2499 อันธพาลครองเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เผยตื่นเต้น จะไปร่วมชม ซึ่งจะไปดูความหล่อของพี่ติ๊ก เชิญชวนประชาชน ซึ่งก็จะมีมาตรการป้องกันโควิด-19 นั่งชมแบบเว้นระยะห่าง หวังว่าฝนจะไม่ตก แต่ถ้าตกนิดหน่อยผู้จัดคงจะมีเต็นท์ และมีมาตรการป้องกันได้ และนี่ยังเป็นครั้งแรกของตนเช่นกันที่ได้ชมหนังกลางแปลง เผยอยากกินอ้อยควั่นที่งานเทศกาลด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ. 2565 ร่วมกับสมาชิกสภา กทม.และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้ กทม.เร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) โดยกล่าวว่ากรณีที่ประชาชนอยากให้ตั้งคณะกรรมการประชาคมเขตแทน ส.ข. ซึ่งแต่งตั้งโดย ผอ.เขต ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ตัวแทนประชาชนโดยตรง คณะกรรมการประชาคมมีหน้าที่เสนอ แนะนำให้คำปรึกษา ให้ความร่วมมือในการทำงาน แต่ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ แตกต่างจาก ส.ข. นอกจากจะเสนอ แนะนำ ให้คำปรึกษา และให้ความร่วมมือในการทำงานแล้วยังมีอำนาจตรวจสอบการทำงาน ผอ.เขตด้วย ดังนั้นการไม่มีเลือกตั้ง ส.ข.ทำให้ ประชาชนขาดโอกาส ในการเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นตนเอง ขาดการร่วมนำปัญหามาเสนอ ขาดการถ่วงดุลอำนาจมาตรวจสอบระดับ ผอ.เขต มองว่าประชาชนขาดอำนาจที่ประชาชนควรได้รับ
ทั้งนี้ อยากฝากท่านผู้ว่าฯ กทม.ช่วยนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้แก้ไขกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมที่ระงับการเลือกตั้ง ส.ข. โดยระบุว่าประชาชนรอการกลับมาของ ส.ข. เพื่อให้ กทม.มีตัวแทนทุกระดับ กรรมการชุมชน ส.ข.-ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม.ให้ทำงานสอดคล้องทุกระดับ และขอให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
โดยผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยหลังจากร่วมประชุมช่วงเช้าว่า วันนี้ในที่ประชุมอยากเสนอวาระเสนอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อเป็นตัวแทนในระดับเส้นเลือดฝอยได้อย่างแท้จริง ดูแลใกล้ชิดและจะได้ทำงานร่วมกับสมาชิกสภา กทม.หรือ ส.ก. ซึ่งวันนี้ความเห็น ส.ก.ส่วนใหญ่ ก็เห็นตรงกันว่าควรมีการเลือกตั้ง ส.ข.กลับมาอีกครั้ง โดยหลักการถ้าเป็นมติของสภาก็มีเหตุผลที่เพียงพอที่ฝ่ายบริหารจะรับไปดำเนินการต่อ เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เบื้องต้นมีรายงานว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของกรุงเทพมหานคร สมัยที่แล้ว ที่ได้นำส่งไปให้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กำลังอยู่ในขั้นพิจารณา โดยใจความสำคัญของร่างนั้นคือการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. แต่ขณะที่ส.ก.ในวาระนี้ที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนต้องการให้มีการนำระบบ ส.ข.กลับมา อีกครั้ง ซึ่งตามที่ได้ทราบสามารถดึงกลับมาแก้ไขได้
ส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่าหาก กทม. มี ส.ข.เข้ามาร่วมทำงานจะเป็นการกระจายอำนาจโดยตรง คนที่มาจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่การถูกเลือกขึ้นมารับตำแหน่ง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ชุดดังกล่าวที่ส่งไปที่ประชุม ครม. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา กทม.ชุดนี้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย
ส่วนอีกเรื่องในวาระพิจารณาคือ งบประมาณปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งแผนงบฯ ได้ทำเสร็จไปก่อนหน้ามีงบหลายส่วนที่ส่งให้ ส.ก. สภา กทม.พิจารณา ก็เป็นไปตามกระบวนการของสภา กทม. โดยอาจจะมีการปรับแก้โยกงบบางส่วนไหนที่จะดำเนินการได้
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามถึงเรื่องปัญหาหนูที่ชุมชนแฟลตดินแดง 5 ที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่ารับทราบปัญหาแล้ว จะติดตามแก้ไขให้ โดยตนเจอปัญหาเองตั้งแต่เมื่อตอนลงพื้นที่พบประชาชนตามเขตแล้ว มองว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องการจัดการขยะในที่พักมีปัญหา เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์อื่น ๆ โดยเบื้องต้น กทม.จะร่วมหารือกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อวางระบบจัดการขยะในที่พัก อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะให้มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย