สธ. 29 มิ.ย. – กรมควบคุมโรค ชี้แแม้โควิดป่วยพุ่ง แต่อัตราตาย 0.07% น้อยกว่าหวัดใหญ่ รับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ทำวัคซีนทุกยี่ห้อประสิทธิภาพลด แต่ยังป้องกันป่วยหนักได้ ย้ำกลุ่มเปราะบาง 608 คนที่มีอาชีพพบปะผู้คนเยอะควรรับวัคซีนต่อเนื่องทุก 4 เดือน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า คาดว่าการติดเชื้อที่มีการรายงานทั่วโลก 550 ล้านคน ไม่ใช่ตัวเลขติดเชื้อจริง เนื่องจากบางคนก็ไม่แสดงอาการ จึงคาดการณ์ว่า น่าจะมีตัวเลขผู้ป่วยสูงกว่ารายงานประมาณ 7-8 เท่า ส่วนในประเทศไทย แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ ผู้เสียชีวิต ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ว่าจริงๆ แล้วโรครุนแรงหรือไม่ ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ โดยอัตราเสียชีวิตของโควิดอยู่ที่ 0.07 % เทียบกับไข้หวัดใหญ่ อยู่ที่ 0.1 % ดังนั้น โควิดยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าอีกหลายๆ โรค
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนการพบโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ต้องยอมรับทุกครั้งที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพวัคซีนทุกชนิดเป็นธรรมดา อัตราป้องกันการติดเชื้อย่อมลดลง แต่ในส่วนอัตราป้องกันการป่วยหนักรุนแรง แม้ลดลงแต่ก็ยังป้องกันได้ดีอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง โดยคนที่ควรรับ คือ คนกลุ่ม 608 คนที่ทำงานพบปะคนจำนวนมาก แพทย์ ตำรวจ ทหาร คนเหล่านี้จำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกัน
ทั้งนี้ สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนปฏิบัติตัวหลังพ้นการระบาดใหญ่ คือ 1.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ควรรับทุกๆ 4 เดือน 2.แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่การสวมหน้ากากอนามัยถือว่ายังมีประโยชน์โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกับคนหมู่มาก
นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า สำหรับแนวทางการฉีด Evusheld (อีวูชีลด์) ของแอสตราเซเนกา เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จ ซึ่ง อย. อนุมัติไปแล้วนั้น กรมควบคุมโรคได้จัดซื้อแล้ว เบื้องต้นจำนวน 2 แสนโดส แต่ไม่ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อจัดซื้อ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงสัญญากับทางบริษัทผู้ผลิตเพื่อเปลี่ยนจากวัคซีน มาเป็นยาดังกล่าวแทน ส่วนการนำไปใช้นั้น คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้นำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน คือ ผู้ป่วยโรคไต ผู้เปลี่ยนไต ฟอกไต และเนื่องจากเป็นยาใหม่ จึงมีข้อเสนอว่าให้ทำการศึกษาด้วย .-สำนักข่าวไทย