สธ. 28 มิ.ย. – อธิบดีกรมแพทย์แจง “อนุทิน” รับยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่เข้าข่ายอ้วน น้ำหนักเกิน เผยหลักเกณฑ์ให้ยา ไม่มีอาการรับฟ้าทะลายโจร อาการน้อยแต่อยู่กลุ่ม 608 รับโมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิด ส่วนป่วยหนัก มีโรคให้เรมเดซิเวียร์ พร้อมออกหนังสือเวียนย้ำเข้า รพ.จนท.และผู้ป่วยยังต้องใส่หน้ากาก
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด-19 ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ หากประเมินด้วยสายตา เนื่องจากรัฐมนตรีมีลักษณะเข้าข่ายภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ทำให้ต้องได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ที่มีลักษณะเหมาะกับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่ได้มีการให้เพราะสาเหตุอื่น หรืออภิสิทธิ์อื่น ๆ แพทย์ผู้ดำเนินการวินิจฉัยรักษาตามหลักเกณฑ์ ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยก็จะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
ทั้งนี้ เกณฑ์การจ่ายยาโควิด-19 ในผู้ป่วยนั้น แบ่งออกตามกลุ่มอาการ คือ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการอาจได้รับยาฟ้าทะลายโจร 2.กลุ่มมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ 3.กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีโรคประจำตัว หรือโรคอ้วน หรือกลุ่ม 608 ต้องได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ หรือแพ็กซ์โลวิด และ 4.คนที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะปอดอักเสบ จะต้องได้รับยาแบบฉีด (เรมเดซิเวียร์ )ร่วมกับสเตียรอยด์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เกณฑ์การรับรักษาโควิดต้องมีการปรับตามสถานการณ์ ปี 2563 ทุกคนที่ป่วยเข้าระบบหมด ปี 2564 รักษา Home Isolation (HI) และปี 2565 มีระบบเจอ แจก จบ หรือ OPSI เมื่อประเทศไทยผลการระบาดใหญ่ก็จะต้องมีการปรับกระบวนการรักษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อแม้ดีขึ้น แต่พบว่าเริ่มมีผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มมากขึ้นประกอบกับยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับ BA.4 และ BA.5 ต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป โดยอัตราครองเตียงขณะนี้พบเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ก็ทำให้เริ่มมีการปรับเกณฑ์การรักษาแบบ HI ในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสิ้นสุดเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนระบบประกันสังคมทราบว่าได้มีการหารือและขยายการรักษาด้วยระบบ HI ต่อไปอีก 1 เดือน และได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลยังคงเคร่งครัดและกำชับผู้มาใช้บริการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันและสำรวจการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากเจ้าหน้าที่คนใดได้รับเกินแล้ว 4 เดือนให้เร่งฉีดกระตุ้นทันที. – สำนักข่าวไทย