สธ. 14 มิ.ย.- อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมเสนอทางออกอุดช่องโหว่สุญญากาศ ไม่มีการควบคุมกัญชา ออกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เน้นการควบคุมการครอบครองช่อดอก
จากกรณีนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอทางออกในช่วงสุญญากาศกัญชา ให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ให้ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่าขณะนี้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆ ในส่วนของกัญชา จัดทำเป็น ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่ช่วงสุญญากาศ ระหว่างร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. โดยหัวใจหลักคือ มุ่งเน้นการจำกัดการครอบครองช่อดอกของกัญชา ซึ่งจะมีรายละเอียดในการควบคุมการครอบครอง ในฐานะบุคคล, วิสาหกิจชุมชน ป้องกันการเสพกัญชา หรือการใช้เพื่อสันทนาการ โดยจะเสนอ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาไทย เห็นชอบ หากเห็นชอบกับทางเลือกนี้ ก็เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข ลงนาม จากนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจาฯ จะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าการจัดทำร่างดังกล่าวใช้เวลาแค่ 3-5 วันแล้วเสร็จ
นพ.ยงยศ กล่าวว่า แนวคิดการใช้ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว เพื่อมาควบคุมป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นกำจัดปริมาณการครอบครงกัญชา ถือเป็นทางออกที่ใช้เพื่ออุดช่องโหว่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่ควบคุมเรื่องเหตุรำคาญจากควันและกลิ่นของกัญชาเท่านั้น ทั้งนี้ เดิม พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยฯ ใช้เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรที่กำลังจะสูญหายและมีราคาแพง เช่น กวาวเครือ ก็เคยใช้กฎหมายนี้มาแล้ว แต่ตอนแรกที่ไม่ได้ใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกรงเป็นแค่การเปลี่ยนกรงขังกัญชา จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่เมื่อนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เสนอสอดคล้องกับที่ทีมที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เสนอมาเช่นกัน ก็เห็นควรที่จะนำร่างประกาศดังกล่าวมาอุดช่องโหว่ในช่วงนี้
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม.แถลงพบคนเสียชีวิตจากการเสพกัญชาเกินขนาด 1 คน และอีก 3 คน ได้รับผลกระทบจากการเสพกัญชาเกินขนาด ในจำนวนนี้เยาวชน 16-17 ปี นพ.ยงยศ ยืนยันว่า ถ้าใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีผลกระทบ จากการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชาของ สปสช. ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จำนวน 51,000 คน และตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา ศุขไสยาศน์ 2,100,000 ครั้ง ก็พบว่าไม่มีเสียชีวิต หรือไม่ได้รับผลกระทบจากกัญชา ย้ำประชาชนหากใช้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อทางการแพทย์ อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากผิดวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ ก็อาจได้รับผลกระทบได้ เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของ อย. และร้านอาหารที่น่าเชื่อถือ.-สำนักข่าวไทย