กทม.กำชับเทศกิจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย-ห้ามรับส่วย

กรุงเทพฯ 13 มิ.ย. – กทม.ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต กำชับเทศกิจกวดขันปฏิบัติหน้าที่ตามแนวข้อกฎหมาย ห้ามรับส่วย


นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ครั้งที่ 6/2565 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยมีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. นางสาวธนพร แดงจิ๋ว ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกรุงธน 3 สำนักเทศกิจ

ในที่ประชุมสำนักเทศกิจสรุปนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับด้านเทศกิจ โดยสำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ 10 นโยบาย ประกอบด้วย 1. เทศกิจผู้ช่วยจราจร 2. สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า 3. ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ 4. เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย 5. ใช้ข้อมูลอาชญากรรมกำหนดพิกัดอันตราย เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย 6. ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ 7. แจ้งปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์ 8. จัดชุดปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานในเมือง 9. กวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างจริงจัง และ 10. ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน


สำหรับนโยบายซึ่งสำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานสนับสนุน 16 นโยบาย ประกอบด้วย 1. พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) 2. รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด 3. ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ 4. ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ 5. หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (hawker center) 6. ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก 7. ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร 8. ปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด 9. รณรงค์สิทธิและระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องจราจร ความสะอาด คอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม 10. เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ 11. เปิดบ้านอุ่นใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน 12. คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) 13. กำหนดหน้าที่และเป้าหมายของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและระดับจังหวัด 14. จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับเขต 15. เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ และ 16. กำกับดูแลและเร่งคืนผิวจราจรการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อการจราจรที่คล่องตัว

สำหรับการดำเนินการตามโครงการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย กทม.ขอความเห็นชอบกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอกำหนดพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ได้รับความเห็นชอบ 86 จุด อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน 9 จุด เจ้าพนักงานท้องถิ่นลงนามประกาศแล้ว 55 จุด อยู่ระหว่างเสนอเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพิจารณา 31 จุด ส่วนการดำเนินการโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 61-6 มิ.ย. 65 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 41,566 ราย ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน 3,865 ราย ดำเนินคดี 37,701 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 45,606,800 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. 65 เทศกิจสำนักงานเขตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 135 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 119 ราย วินจักรยานยนต์ 14 ผู้ให้บริการแกร็บ 2 ราย ราย ปรับเป็นเงิน 140,200 บาท

ด้านการดำเนินการกรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 61-6 มิ.ย. 65 เทศกิจสำนักงานเขต จัดเก็บได้ 235,251 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 51 ราย จับ-ปรับ 5,753 คดี ปรับเป็นเงิน 15,849,100 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. 65 เทศกิจสำนักงานเขตจัดเก็บได้ 550 ป้าย จับปรับ 13 คดี ปรับเป็นเงิน 26,500 บาท รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับซากรถยนต์ จากการสำรวจซากยานยนต์ที่ถูกจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะ มีจำนวน 1,189 คัน เคลื่อนย้ายแล้ว 1,178 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,039 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 139 คัน คงเหลือซากยานยนต์ที่รอเคลื่อนย้าย 11 คัน สถานที่เก็บซากยานยนต์ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร (หนองแขม) มีซากยานยนต์ที่เก็บรักษา 76 คัน สถานที่เก็บซากยานยนต์บริเวณใต้ทางด่วน สี่แยกประเวศ เขตประเวศ มีซากยานยนต์ 14 คัน


รวมถึงโครงการเทศกิจจราจร ในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 65 ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน สถานศึกษา จุดวิกฤตจราจร ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกกับเด็กนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป พร้อมดำเนินการจัดระเบียบการเว้นระยะห่างทางสังคมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริเวณโรงเรียนในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,710 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เทศกิจ 511 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 119 ราย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 26 ราย เจ้าหน้าที่ครูและนักเรียน 550 ราย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 490 ราย ในส่วนของเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่จราจรบริเวณหน้าโรงเรียน กทม. 261 แห่ง จำนวนเทศกิจ 397 ราย บริเวณหน้าโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 44 แห่ง จำนวนเทศกิจ 56 ราย บริเวณหน้าโรงเรียนเอกชน 41 แห่ง จำนวนเทศกิจ 58 ราย รวมเจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติหน้าที่จราจร 511 ราย ในโรงเรียนทั้งหมด 346 แห่ง

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักเทศกิจได้จัดประชุมหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต เดือนละ 1 ครั้งเพื่อกำชับการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหาร ในครั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการทำงานนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มี 10 นโยบายที่สำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานหลัก และ 16 นโยบายที่ไปร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่น โดยใน 10 นโยบายจะมีการรายงานผลการทำงานทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ตรงตามเป้าหมายนโยบายของผู้ว่าฯ ซึ่งหลาย ๆ นโยบายก็สอดคล้องกับที่ดำเนินการอยู่แล้ว ต้องมีปรับเป้าหมายบ้าง ขณะนี้หลายเขตก็ได้ดำเนินการตามนโยบายใหม่แล้ว

สำหรับปัญหาการทุจริตของเทศกิจ ได้กำชับให้ผู้บริหารและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจของเขตต้องดูแลเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ปฏิบัติตามแนวทางกฎหมาย เรื่องเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง พร้อมกำชับว่า จากนี้ไปหากมีเรื่องร้องเรียนประเภทนี้ ได้สั่งการให้ส่งเรื่องให้ตนดูทุกเรื่อง และจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบด้านวินัย ทั้งนี้ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง เริ่มมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอยเข้ามาแล้ว ซึ่งตนได้รับเรื่องและจะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ในสัปดาห์นี้

“เรื่องส่วยส่วนใหญ่ในแต่ละปีที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องร้องเรียนของหาบเร่แผงลอย ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำไม่ถูกกฎหมายทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ถูกเรียกรับเงินที่ปฏิบัติไม่ถูกกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่ใช้ช่องว่างเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ควรทำ หากดำเนินการตามกฎหมายก็จบ แต่หากไปเรียกรับสินบน แม้จะเป็นเงินไม่มากก็อาจทำให้บางคนที่เดือดร้อนต้องมีชีวิตลำบาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ควรทำ ยืนยันว่า ปัญหาการทุจริตเรื่องนี้สามารถควบคุมดูแลได้” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ