กรมราชทัณฑ์ 8 มิ.ย.-กรมราชทัณฑ์ คัดนักโทษเด็ดขาด 1 พันคน จาก 10 เรือนจำกรงุเทพฯ/ปริมณฑล พร้อมลอกท่อในกรุง 1 ก.ค.นี้ เข้มเกณฑ์คัดเลือกต้องไม่เป็นนักโทษคดีความมั่นคง คดีอุกฉกรรจ์หรือเครือข่ายค้ายาฯ แบ่งปันผล 70 % จากกำไรในการลอกท่อ ให้ผู้ต้องขังที่ได้ไปทำงาน
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ภายหลังกรมราชทัณฑ์ได้หารือกับทางกรุงเทพมหานคร ที่จะจ้างงานผู้ต้องขังทำงานสาธารณะประโยชน์ลอกท่อ ในคูคลองต่างๆในกรุงเทพฯนั้น กรมราชทัณฑ์ได้จัดเตรียมคัดเลือกผู้ต้องขังไม่ต่ำกว่า 1,000 คน จาก 10 เรือนจำในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อออกทำงานลอกท่อ พร้อมเริ่มงานได้ทันทีในวันที่ 1ก.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือรายละเอียด กับกทม.ว่าจะจ้างงานในคลองสายใดบ้าง โดยมีเกณฑ์คัดเลือกนักโทษเด็ดขาดที่จะไปลอกท่อต้องเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี เหลือโทษจำคุกตามระเบียบกำหนด ที่สำคัญมีกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์ คือ นักโทษคดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย นักโทษ เครือข่ายค้ายาเสพติดรายใหญ่ หรือ กระทำความผิดในคดีเป็นที่สนใจของสังคม หรือ นักโทษเด็ดขาดที่ต้องเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ หรือเป็นภัยต่อสังคม เป็นต้น คดีทางเพศ คดีกู้ยืม ฉ้อโกง นักโทษเด็ดขาดที่มีคู่คดีอยุ่เรือนจำเดียวกัน และนักโทษที่ถูกโทษวินัยอยู่ กลุ่มคดีเหล่านี้จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปลอกท่อ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ตามหลักทัณฑวิทยา แล้ว การให้ผู้ต้องขังได้ออกไปทำทำปะโยชน์กับชุมชนและสังคม ทำให้ผู้ต้องขังได้ปรับตัวก่อนพ้นโทษ ลดความเครียด และเกิดความภาคภูมิใจ รวมทั้ง การออกไปทำงานลอกท่อยังได้ประโยชน์ลดวันต้องโทษ ทำกี่วันได้ลดโทษเท่าจำนวนวันที่ออกไปทำงาน เช่น ออกไปลอกท่อ 1 เดือน ก็ได้ลดวันต้องโทษ 1 เดือน ทำให้มีผู้ต้องขังสนใจและสมัครใจอยากออกไปทำงานจำนวนมาก ซึ่ง กรมให้ความสำคัญ และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการบังคับ แต่เปิดให้สมัครใจไปทำงาน โดยกรมฯให้การดูแลด้านอาหาร และเตรียมพร้อม อุปกรณ์ลอกท่อ เสื้อผ้า ให้กับผู้ต้องขัง และหากประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยขณะทำงาน ก็มีเงินสวัสดิการ 10,000-120,000 บาท ในการช่วยเหลือ
สำหรับการทำงานลอกท่อ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ กำหนดไว้ชัดเจนการออกไปทำงานที่มีผลกำไรจากการรับจ้างงานของกรุงเทพมหานคร ต้องมอบกำไรให้ผู้ต้องขังร้อยละ 70 เป็นเงินรางวัลปันผลาโดย คำนวณจากวันต่อวัน 1 คนต้องได้รับสัดส่วนเท่ากันหมด ส่วนนี้ทำให้ผู้ต้องขังมีเงินเก็บหอมรอมริบ ไว้สร้างเนื้อสร้างตัวหลังพ้นโทษ ที่สำคัญเป็นการให้โอกาสผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้กลับคืนสู่สังคม มีงานทำและไม่กระทำผิดซ้ำอีก
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การว่าจ้างตามสัญญาที่จะทำกับกทม.จะกำหนดว่า ทำการลอกท่อในคลองสายใดกี่กิโลเมตรใช้เวลากี่วัน ซึ่งตามปกติ ผู้ต้องขัง 1 คนจะลอกท่อได้ในความยาว 25 กิโลเมตร ขึ้นกับหน้างานว่าท่อนั้นมีเลนหรือขยะมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ กรมฯยังได้วางระบบคิวซี มีรถล้างทำความสะอาด ก่อนปิดงาน และปิดท่อให้เรียบร้อยในแต่ละวัน เมื่อเสร็จงาน โดยงานลอกท่อของนักโทษ ทำมานานแล้ว เคยมีMOU ร่วมกันกับกทม. เจ้าหน้าที่ผู้คุมมีประสบการณ์ มีเทคนิคการเปิดท่อ และปิดท่อ ไม่ให้ท่อเสียหาย ส่วนตัวนักโทษที่ออกไปทำงาน ก็ต้องผ่านการอบรมปฐมนิเทศก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจรายละเอียดวางแผนร่วมกับกทม. ว่าจ้างว่าในช่วงปลายงบประมาณที่เหลือ 4 เดือน จะลอกจำนวนกี่คลอง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา นักโทษเคยทำงานลอกท่อ บางคนได้ออกไปทำงาน 3 เดือน ได้เงินเป็นหลักหมื่น ในช่วงทำงานจะมีผู้ต้องขังเข้าออก พ้นโทษ ออกไป ก็จะจัดผู้ต้องขังรายอื่นๆออกไปทำงาน ในส่วนของประชาชนที่เห็นผู้ต้องขังลอกท่อ ก็จะนำน้ำ อาหารไปให้ ซึ่งเป็นการให้การยอมรับกับผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษแล้ว กรมราชทัณฑ์ ก็มีศูนย์แคร์ หรือ ศูนย์ประสานงานการมีงานทำอยู่ทุกเรือนจำ เพื่อติดตามให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ ได้มีงานทำไม่ไปทำผิดซ้ำอีก
สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการคัดเลือกให้ออกไปทำงานสาธารณะลอกท่อ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการส่งนักโทษเด็ดขาดออกไปทำงานสาธารณะ หรือทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 โดยสรุป เช่น นักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 5 ปี หากเป็นชั้นเยี่ยม ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ ชั้นดีมาก ต้องรับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 และชั้นดี ต้องได้รับโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ เป็นต้น แต่หากเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติด จะมีการกำหนดเงื่อนไขในรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ต้องโทษจำคุกครั้งแรก ไม่เข้าข่ายผู้กระทำผิดรายสำคัญ และกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี รวมถึงกำหนดจำนวนยาเสพติดของกลางไว้ด้วย .-สำนักข่าวไทย