สธ. 6 มิ.ย. – อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำฝีดาษวานรไม่ติดง่ายเท่าโควิด ป่วยแล้วหายเอง ไม่เสียชีวิตหากไม่มีโรคแทรก WHO จัดฝีดาษวานรมีเสี่ยงปานกลาง ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ไม่จำกัดการเดินทาง แค่เฝ้าระวังคัดกรอง สังเกตตุ่มน้ำ แยกโรคไม่ออก ต้องตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ รวมกับประวัติทางระบาดวิทยา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงฝีดาษวานร หรือ (Monkeypox) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อผีดาษวานร โดย 6 คนก่อนนี้ พบเป็นการติดเชื้อเริม เดิมทีโรคฝีดาษวานรเป็นโรคที่พบในลิงภายหลังมีการติดต่อจากสัตว์สู่คน และแพร่ออกมานอกประเทศแอฟริกา โดยมีสัตว์พาหะ คือ ลิง หนู กระรอก และสายพันธุ์ตะวันตก พบอัตราตาย 1% ส่วนสายพันธุ์ตอนกลาง พบอัตราตาย 10% ซึ่งสายพันธุ์ที่พบกำลังแพร่ระบาด คือ สายพันธุ์ตะวันตก การแพร่ระบาดเกิดจากสัมผัสใกล้ชิด ทางเดินหายใจ ส่วนการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ส่วนระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 5-21 วัน มีอาการไข้ ปวดหัว หลัง และผื่นขึ้นตามตัว เป็นตุ่มแดง ใส และหนอง จากนั้นจะเป็นรอยบุ๋มแห้ง ตกสะเก็ด ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรเป็นแล้วสามารถหายได้เอง ไม่มีใครเสียชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินโรคนี้มีความเสี่ยงปานกลาง ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ยังไม่จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เพียงแต่ให้มีการเฝ้าระวัง
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนแผลเป็นที่เกิดจากฝีดาษวานร เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คนที่มีโรคแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ แต่พบว่าหลังจากผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน พบการติดเชื้อ 43 ประเทศ มีผู้ป่วย 990 คน แบ่งเป็น ป่วย 920 คน เสี่ยงสูง 70 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของโควิด จะพบว่ามีความรุนแรงน้อยกว่า ติดเชื้อน้อยกว่า หากเป็นโควิดจะพบว่ามีการแพร่เชื้อเร็วกว่ามาก หากเป็นเหมือนโควิดคาดว่าจะมีคนติดเชื้อหลัก 10 ล้านคน แต่ฝีดาษวานรติดยังไม่ถึง 1,000 คน ส่วนการจัดหาวัคซีนรองรับนั้น เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น แต่ต้องไม่ประมาท มีการตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการติดเชื้อสูง โดยการพบผู้ป่วยติดเชื้อไม่สามารถแยกการติดเชื้อฝีดาษวานรได้จากตุ่ม หรือผื่นที่ขึ้นตามตัว ต้องอาศัยผลการยืนยันจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง .-สำนักข่าวไทย