นราธิวาส 29 พ.ค.- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 กำชับมาตรการ COVID Free Setting ในวัดและตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างเหมาะสม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยเริ่มคลี่คลายมากขึ้น หลายจังหวัดมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง จึงได้มีการกำหนดมาตรการผ่อนคลายโดยประกาศให้เข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น (Post Pandemic) ในเร็ว ๆ นี้ แต่ประชาชน และสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะวัดและตลาดที่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ COVID Free Setting ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ 3 ด้าน คือ 1) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (COVID Free Environment) ที่จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม มีการระบายอากาศ เว้นระยะห่าง และมีสุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาด ปลอดภัย 2) มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ (COVID Free Personnel) จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK และ 3) มาตรการของผู้ใช้บริการ (COVID Free Customer) ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการของสถานประกอบกิจการนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงได้ลงพื้นที่วัดและตลาดในจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศด้วยมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ด้านการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post Pandemic พร้อมชื่นชมวัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวงที่ได้ให้ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นย้ำให้ผู้นำทางศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรม และเจ้าหน้าที่ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสร้างความมั่นใจ ด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน
“สำหรับตลาดเก็นติ้ง ยังคงต้องให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยกำหนดจุดเข้า – ออกให้เหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1–2 เมตร จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง และจัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิดและต้องล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี ทั้งนี้ พ่อค้า แม่ค้า ผู้ปฏิบัติงานในตลาด จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาด ด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดให้บริการและตรวจ ATK ทันที ส่วนผู้รับบริการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) เพื่อเตรียมความพร้อม ในการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างเหมาะสมต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย