คุรุสภา 26 พ.ค.- สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จัดพิธีมอบ “รางวัลครูถิรคุณ” ให้ครูต่ายเป็นคนแรกของรางวัลนี้ “ตรีนุช” ยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้เรียน บุคคลในวิชาชีพครู และผู้คนในสังคมได้อย่างดียิ่ง
ที่ห้องประชุมราชวัลลภ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดพิธีประกาศเกียรติคุณยกย่องครูผู้เสียสละ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพเพื่อมอบ “รางวัลครูถิรคุณ” ให้แก่นางสาวกาญจณี ใจชื้น หรือ ครูต่าย ซึ่งเป็นครูอัตราจ้างของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ที่ได้เข้าช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังวิ่งข้ามถนน จนเป็นเหตุให้ถูกรถจักรยานยนต์พุ่งชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2565 โดยมี นายสำเริง ใจชื้น คุณพ่อ, นายสุจริต ใจชื้น น้องชาย และเด็กชายวิสุทธิ์ ใจชื้น ลูกครูต่าย เป็นตัวแทนรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งนางสาวตรีนุช ได้เชิญชวนผู้ร่วมพิธีฯลุกขึ้นยืน เพื่อร่วมตั้งจิตอธิษฐาน อุทิศส่วนกุศลส่งดวงวิญญาณของครูต่าย ให้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ ด้วยการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการคุรุสภา ร่วมพิธี
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าครอบครัวของครูต่าย มีความรู้สึกภาคภูมิใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูต่าย ทั้งในฐานะที่เป็นบุตรของคุณพ่อ คุณแม่ ในฐานะคุณแม่ของลูก และในฐานะคุณครู ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ครูต่ายรักและได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีที่สุด เป็นที่น่าชื่นชม ครูต่ายเป็นครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง มีความรักและห่วงใยผู้เรียนเสมือนลูกของตนเอง เมื่อเห็นผู้เรียนที่เป็นลูกศิษย์อยู่ในความเสี่ยงก็ได้เข้าให้การช่วยเหลือและปกป้องโดยไม่คิดถึงชีวิตตนเอง นับว่าเป็นการเสียสละ สะท้อนถึงจิตวิญญาณครูที่เต็มเปี่ยมและยิ่งใหญ่มาก เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้เรียน บุคคลในวิชาชีพครู และผู้คนในสังคมได้อย่างดียิ่ง
ด้าน รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า “รางวัลครูถิรคุณ” มีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก จาก 1.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณ รักและศรัทธาในวิชาชีพ จนเป็นที่ประจักษ์ 2. เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 3. เป็นผู้ที่ประพฤติและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจแก่เพื่อนครู และผู้เรียน 4. เป็นผู้ได้รับความเชื่อถือศรัทธา ยกย่อง ยอมรับของผู้เรียน เพื่อนครูและสังคม ว่าเป็นต้นแบบของผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างค่านิยมให้สังคมยอมรับ 5. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือประกอบวิชาชีพในพื้นที่ที่มีชุมชนและสังคมที่มีความแตกต่างทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม หรือในพื้นที่เสี่ยงภัย ทุรกันดาร และปรากฏผลงานเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง 6. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบวิชาชีพจนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหรือสูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต .-สำนักข่าวไทย