สำนักข่าวไทย 23 พ.ค.-กรมควบคุมโรค ยกระดับตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) เฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูง ทั้งแอฟริกากลาง และยุโรปที่มีการระบาด
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง (monkey pox) ว่า กรมได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน และเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา และติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนั้นๆ ที่กำลังมีการระบาด มีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน
ส่วนการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ คนที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ จะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทั้งประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โดยที่สนามบินจะมีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลท์บินจากประเทศเหล่านี้ ดูว่ามีแผลหรืออะไรหรือไม่แบบเดินผ่านๆ และแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลักๆ จะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่ม ให้รายงานเข้าระบบ และรีบไปพบแพทย์ใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือ มีอาการเข้าได้กับโรค และมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาด ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโรคฝีดาษลิงมีพบประปรายในแอฟริกามานานหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนไปนำโรคออกมาจากภูมิภาคดังกล่าว ครั้งนี้มีคนไปนำโรคออกมา ไปติดเชื้อมาจากประเทศในแอฟริกา และบินกลับนำเชื้อเข้ามาในยุโรป ทั้งอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และไปสัมผัสใกล้ชิดกันมากกับผู้ที่ติดเชื้อ จึงติดเชื้อกัน ซึ่งมีการติดเชื้อกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมากใน 100 กว่าคน มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย (MSM) แต่จริงๆ แพร่ได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เจอในแต่ละประเทศในยุโรปยังไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นการนำเชื้อมาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งเมื่อหลุดออกมาจากแอฟริกาเข้ายุโรปแล้ว จากนี้ก็อาจจะเกิดการแพร่ข้ามประเทศในยุโรป
ส่วนในอนาคตต้องรื้อฟื้นการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษหรือไม่ ตอบว่ายัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีน Smallpox มากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้าง เพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อ Smallpox เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ (Smallpox) ทุกคน แต่คนที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้ เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนความเสี่ยงของการระบาดโรคฝีดาษลิงกับโควิด-19 น่าจะต่างกัน เพราะโควิด-19แพร่กระจายได้เร็วแต่แล้วแต่สายพันธุ์ ส่วนฝีดาษลิง เท่าที่ดูในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็แพร่กระจายได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลของฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น ว่ากลไกในการติดเชื้อนอกจากการอยู่ใกล้ชิดแล้ว มีกลไกอื่นอีกหรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มขึ้นพอสมควรอย่างใกล้ชิด เพราะตอนนี้มีข้อมูลน้อยมาก และทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 100 ราย ส่วนสายพันธุ์แตกต่างจากที่เคยเจอหรือไม่ จะต้องติดตาม.-สำนักข่าวไทย