กรุงเทพฯ 20 เม.ย. – กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะ “ลองโควิด” คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายแล้ว แต่ยังมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือนหลังติดเชื้อ
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีความเป็นไปได้ 4 สาเหตุ
- มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง
- การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติแบบถาวร ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว
- ผลกระทบจากการรักษาและนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานาน
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติภายหลังการติดเชื้อ
ซึ่งสามารถพบได้ในทุกระบบของร่างกาย โดยแบ่งอาการที่พบบ่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- อ่อนเพลีย
- หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
- ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง
สำหรับอาการต่างๆ ที่พบได้ มีมากกว่า 200 อาการ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ ปวดหู หรือมีเสียงในหู ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี ผื่นตามตัว ผมร่วง รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ
โดยระยะเวลาของอาการมีตั้งแต่หลายเดือนจนถึงเป็นปี หลายอาการรักษาได้ แต่หลายอาการต้องรักษาระยะยาว และอาจมีผลต่อร่างกายถาวร ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์. – สำนักข่าวไทย