กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – นักวิชาการชี้ “ปริญญ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เป็นโรคจิต แต่เป็นการใช้อำนาจ เพื่อแสวงหาประโยชน์จนเคยชิน ด้านผู้เสียหายเหตุล่วงละเมิดในสังคมไทยขาดความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม ต้องพึ่งทนายนำออกสื่อกดดันได้ผลเร็ว
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงการที่นักการเมืองทำอนาจารคุกคามทางเพศผู้หญิงถึง 14 คน โดยผู้หญิงให้การเหมือนกันว่าถูกนักการเมืองคนนี้ข่มขู่ว่าตนและพ่อมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต ว่า ม่น่าจะเป็นอาการทางจิต แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ เพื่อแสวงหาประโยชน์จนเคยชิน และเมื่อทำแล้วลอยนวลไม่มีใครเอาผิดได้ ประกอบกับบริบทในสังคมที่เอื้อให้เขาทำผิดได้ เช่น ไม่มีใครเคยแจ้งความดำเนินคดี ทำให้ทำซ้ำ ๆ ยืนยันว่าไม่ใช่โรคจิตแน่นอน แม้การกระทำนี้จะเริ่มทำตั้งแต่อายุไม่มากจนปัจจุบันมีความเป็นผู้ใหญ่ ก็ยังกระทำซ้ำ ๆ มองว่าเป็นเพราะเมื่อกระทำผิดทุกครั้งก็รอดตัวทุกครั้ง ไม่มีใครเอาผิดได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง
ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีนี้แม้ยังไม่มีคำตัดสินของศาล ถ้าพิจารณาจากคดีและเจ้าทุกข์ผู้เสียหายที่มีจำนวนมาก และต่างคนต่างมาเช่นนี้ เป็นหน้าที่ของกระบวนการทางสังคมที่ต้องตรวจสอบ และให้มีการรับผิด รับผลจากการกระทำ ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศ สังคมไทยถือว่าเป็นปัญหามาช้านาน โดยเฉพาะเกิดจากผู้มีอำนาจอิทธิพล ถ้าวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำไมเกิดซ้ำ ๆ มาจาก ปัจจัยตัวบุคคล ที่มีแหล่งอำนาจไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว ตำแหน่งทางการเมือง สถานะทางสังคม เอื้อให้ทำความผิดได้และทำต่อเนื่อง ที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งเอื้อให้มีการกระทำผิดคุกคามทางเพศตลอดมา คือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้คนมักหันไปตั้งคำถาม หรือตีตรากับคนที่ถูกละเมิดว่า มีพฤติกรรมเช่นไร จึงถูกละเมิด เช่น จะไปแบล็คเมล์เขาหรือเปล่า เห็นผู้ชายมีฐานะ มีชื่อเสียง ทำให้ผู้ถูกละเมิดหลายคนในคดีนี้ไม่กล้าพูด เพราะพูดไปไม่รู้จะมีใครเชื่อหรือไม่ ไม่เห็นหนทางว่าจะเอาผิดอะไรกับนักการเมืองคนนี้ได้ แม้บางคนไปแจ้งความ แต่คดีก็ไม่คืบหน้า
สำหรับปรากฏการณ์ “ปริญญ์” แตกต่างจากปรากฏการณ์คุกคามทางเพศอื่น ๆ ที่เมื่อคนติดตามข่าวแล้วอาจเงียบไป แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นมีผู้เสียหายรายอื่น ๆ กล้าปรากฏตัว ถือเป็นมิติใหม่ในสังคมไทย หรือกระแส “Me too” ซึ่งอาจมาช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก แต่อาจมองเป็นด้านดีที่เริ่มมีกระแสนี้ในประเทศไทย ที่ว่าผู้เสียหายจำนวนมากไม่ได้มองว่าการถูกคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องปิดปากเงียบอีกต่อไป ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป แต่การเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังมีน้อย กลับกลายเป็นผู้เสียหายหันหน้าหาทนาย ถูกขยายความผ่านสื่อกลายเป็นแรงกดดัน กระตุ้นให้ผู้เสียหายรายอื่นออกมา ผลักดัน เร่งรัดให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว ชี้ว่าผู้ถูกล่วงละเมิดหรือผู้เสียหายในสังคมไทยขาดความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม
แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ต้องทำอะไร เพราะมีทนายคอยช่วยเหลือ ในทางตรงข้ามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุกคามทางเพศต้องร่วมมือกันมากขึ้น เช่น เหตุที่โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องสอดส่องดูแลความปลอดภัยนักเรียน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อาจต้องยื่นมือมาสนับสนุน ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยผู้หญิงเหล่านั้นไม่ต้องไปดิ้นรนด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีเหตุการณ์คุกคามทางเพศเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ เช่น โรงเรียน ลักษณะครูอาจารย์กับนักเรียนนักศึกษา ในบ้าน สถานที่ทำงาน หวังว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่กำลังล่วงละเมิดหรือคิดจะทำฉุกคิด เตือนสติตัวเอง ได้ว่าการกระทำเช่นนี้โอกาสที่จะลอยนวลไม่ง่ายเหมือนเก่าแล้ว.-สำนักข่าวไทย