สธ. 16 เม.ย.- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะช่วงหน้าร้อน ควรจำกัดปริมาณในการกินไอศกรีม เพราะมีส่วนผสมของไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง หากบริโภคมากไป เสี่ยงไขมันสะสม-น้ำหนักตัวเพิ่ม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อน ไอศกรีมเป็นของหวานที่หลาย ๆ คน กินเพื่อคลายร้อน ซึ่งควรจำกัดปริมาณในการกิน เพราะไอศกรีมส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำตาลและไขมันนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต นมผง นมเปรี้ยว และยังมีสารให้ความหวาน เช่น กลูโคสไซรัป ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันพืช ไข่ กะทิ นอกจากนี้ ไอศกรีมยังนิยมกินกับวาฟเฟิลโคน วิปปิ้งครีม และของตกแต่งหน้าเพิ่มด้วย หากกินมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ผู้บริโภค เสี่ยงไขมันสะสม น้ำหนักเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง และระวังน้ำตาลที่อยู่ในไอศกรีมด้วย เนื่องจากไอศกรีมบางประเภทแม้มีไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ กลับมีน้ำตาลสูงถึง 3.5 – 6.5 ช้อนชา ดังนั้น จึงควรบริโภคแต่พอควร สำหรับผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูง ควรเลือกกินไอศกรีมที่มีไขมันน้อย หรือไม่มีไขมันเลย เช่น ไอศกรีมเชอร์เบต ส่วนผู้ที่มีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง สามารถกินไอศกรีมเป็นครั้งคราว จำกัดคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลในอาหาร เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก ส่งผลทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า การเลือกกินไอศกรีม ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง (50 – 70 กรัม) ให้พลังงาน 150 – 230 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 12 – 15 กรัม มีน้ำตาล 4 – 5 ช้อนชา ไอศกรีม 1 สกู๊ป (100 กรัม) ให้พลังงาน 250 – 350 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 7 – 11 กรัม น้ำตาล 6 – 9 ช้อนชา โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินไขมันและน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ไอศกรีมจึงควรกินเป็นครั้งคราวและจำกัดปริมาณไอศกรีม การเลือกกินไอศกรีมเลือกชนิดไขมันน้ำตาลน้อย และไม่เพิ่มโคน กินควบคู่กับผลไม้ เพื่อทำให้น่ากินมากขึ้น และควรกินแบบพอดี ไม่เยอะจนเกินไป เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก ก่อนซื้อควรดูฉลากโภชนาการ เป็นส่วนประกอบก่อนการบริโภค เพื่อทำให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้ กินมากเกินไป โดยสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier choice) และเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิต ที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารจากไอศกรีมที่ไม่สะอาด .-สำนักข่าวไทย