สุราษฎร์ธานี 8 มี.ค. – ก.ศึกษาธิการ เดินเครื่องแก้หนี้ครู 900,000 ราย ยอดหนี้พุ่งกว่า 1.4 ล้านล้านบาท กำชับเขตพื้นที่ฯ เข้ม คำนวณเงินเหลือ 30% ก่อนปล่อยกู้
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมสัมมนาแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กําหนดให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ ศธ.มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 900,000 คน มียอดหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในจํานวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่งทั่วประเทศ รวม 890,000 ล้านบาท และหลังจาก ศธ.เริ่มดําเนินโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 26,767 คน
นอกจากนี้ ยังพบว่าจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้งหมด 108 แห่งนั้น มีเพียง 13 แห่ง ที่กําหนดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 5% ต่อปี ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอย่างน้อย 13 แห่ง กําหนดดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7-9% ต่อปี ที่ผ่านมาได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมเป็นสหกรณ์ต้นแบบ และจัดทําแผนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นรูปธรรม กําหนดให้มี ”สถานีแก้หนี้” ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด โดยผู้อํานวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ใหม่ของครู เมื่อรวมยอดหนี้แล้วต้องมีเงินเหลือให้ครูได้ใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมทางไกลของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย