กรุงเทพฯ 10 ก.พ. – สธ.ระบุพบเด็กติดโควิดสูงขึ้นทั้งจากโรงเรียนและคนในครอบครัว พร้อมแจงแผนการฉีดวัคซีน เร่งสกัดอัตราป่วยและแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุที่ยังมียอดเสียชีวิตสูง
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่อยากให้สนใจที่ตัวเลขผู้ป่วยรุนแรงและผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เนื่องจากสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้มีอาการรุนแรงมากนัก โดยวันนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 563 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 16 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เพิ่มจากเมื่อวาน 3 ราย ถ้าเทียบกับเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ไทยมีการติดเชื้อสูงสุด 23,000 กว่ารายต่อวัน ตอนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ประมาณ 5,600 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจราว 1,111 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ที่ 20 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงวัย และมีโรคเรื้อรัง และมีเพียงรายเดียวที่ได้รับวัคซีนบูทเตอร์โดส ถือว่าสถานการณ์พบผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตค่อนข้างยังคงตัวอยู่ ยังไม่ได้พุ่งขึ้นสูง ส่วนผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษามี 105,129 ราย แบ่งเป็น HI, CI และ รพ.สนาม 53,694 ราย ส่วนที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งมีอาการน้อย มีอยู่ 50,872 ราย ดังนั้น ศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้เพียงพอ
อันตราป่วยที่พบเพิ่มขึ้นในช่วงนี้พบมากสุดในวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี รองลงมาเป็น 30-39 ปี และในกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี และ 10-19 ปี ที่พบการติดเชื้อสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผู้ที่มีอัตรการเสียชีวิตสูงสุดในกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป สูงกว่ากลุ่มเด็กเล็กถึง 200 เท่า ดังนั้น สองกลุ่มนี้ควรเว้นระยะห่างระหว่างกัน และเมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มเด็กช่วง 30 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ พบว่าในกลุ่มเด็กปฐมปลายไปจนถึงมัธยมต้น ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากที่โรงเรียน แต่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากคนในครอบครัวเป็นหลัก ขณะที่วัยรุ่นมักติดเชื้อมาจากนอกบ้านและในชุมชน จึงขอให้ทุกช่วงวัยเร่งไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิต
นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในเด็ก เห็นได้ชัดว่าในระลอกหลังๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสายพันธุ์เดลตาและโอไมครอน พบมีเด็กติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 5-11 ปี พบกว่าร้อยละ 6 แม้จะมีอาการน้อย แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ เด็กบางคนอาจเกิดภาวะ MIS-C หรือภาวะการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิด ดังนั้น ควรเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และสามารถเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย
สำหรับความก้าวหน้าในการบริการจัดการวัคซีน สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ได้ดำเนินการฉีดให้เด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป็นกลุ่มแรก ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการให้บริการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา เริ่มมาตั้งแต่ 7 ก.พ. โดยฉีดให้เด็กนักเรียน ป.6 ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ก่อนเป็นอันดับแรก และชั้นปีอื่นถัดลงไปตามลำดับ โดยบริหารจัดการวัคซีนผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ 76 จัหวัด ขณะที่ใน กทม. บริหารจัดการผ่านสำนักอนามัย กทม., กรมการแพทย์ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ โดยวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. สำหรับฉีดกลุ่มเป้าหมายอายุต่ำกว่า 18 ปี มีทั้งวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม สำหรับเด็ก 5-11 ปี และไฟเซอร์ฝาสีม่วง สำหรับเด็ก 12-17 ปี
คำแนะนำการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี หากเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ให้ฉีดไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์, อายุ 6-17 ปี ให้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ และกลุ่มอายุ 12-17 ปี สามารถฉีดไฟเซอร์ฝาสีม่วงได้ 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และสูตรไขว้ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์
ขณะที่การศึกษาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในกลุ่ม 3-17 ปี ในประเทศจีน จำนวน 235 ล้านราย มีรายงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จำนวน 1.9 หมื่นราย ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ที่ฉีดในกลุ่ม 5-17 ปี ที่มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบมีผลข้างเคียงทั่วไป อ่อนเพลียร้อยละ 39.4 ปวดหัวร้อยละ 28 หนาวสั่นร้อยละ 9.8 และมีโอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดไฟเซอร์เข็ม 2 ต่อการฉีดวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส ส่วนการศึกษาในประเทศไทยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศึกษาภูมิคุ้มกันในวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี หลังได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ในกลุ่มวัยรุ่น มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิดในเด็กวัยเรียน ที่ได้รับการอนุญาตให้ฉีดแล้ว มีทั้งวัคซีนเชื้อตายซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ขณะนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 25 ล้านโดส ในกลุ่ม 6-17 ปี ที่เป็นเด็กนักเรียนปกติ โดยฉีดให้ 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ขณะนี้มีพร้อมให้บริการในพื้นที่แล้ว ส่วนวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ ตอนนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส ในเด็กอายุ 5-11 ปี โดยเริ่มฉีดให้กับเด็ก 7 กลุ่มโรค ในโรงพยาบาลก่อน จากนั้นฉีดให้เด็กนักเรียน ป.6, 5, 4, 3, 2, 1 โดยฉีดให้ 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ บริษัทผู้ผลิตจะจัดส่งให้สัปดาห์ละ 3-5 แสนโดส.-สำนักข่าวไทย