กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – “กลุ่มเปราะบาง” สามารถทำ Home isolation ได้ ส่วนพ่อ-แม่ไม่ติดเชื้อสามารถเข้าดูแลลูกใน hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม ที่มีระบบจัดการแยกส่วนอย่างดี
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังช่วงปีใหม่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในกลุ่มเปราะบางมีอัตราเพิ่มขึ้น 6-11% เท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 1-20 ม.ค. พบผู้เสียชีวิต 75% เป็นผู้สูงอายุ และ 60% มีประวัติเสี่ยงได้รับเชื้อมาจากผู้ใกล้ชิด ส่วนหญิงตั้งครรภ์แนวโน้มติดเชื้อทรงตัว มีเสียชีวิตเป็นระยะ ดังนั้นกลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างสูงเพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังใน 3 กลุ่ม คือ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย 2.กลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และ 3.ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง และเสี่ยงสัมผัสญาติใกล้ชิดที่ ติดเชื้อ
ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถตรวจเอทีเคได้ทันทีหากประเมินแล้วพบตัวเองมีความเสี่ยง เช่น ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อ, มีอาการไอเจ็บคอเป็นไข้, เดินทางไปในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ หรือควรกักตัว และตรวจเอทีเคซ้ำเป็นระยะ กรณีพบผลบวกอย่าตกใจให้ติดต่อ 1330 หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาฯ หรือหายใจติดขัด หรือวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วได้ต่ำกว่า 94 % ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการระบาดตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมามีสถิติการทำ Home Isolation ในกรุงเทพฯ ประมาณกว่า 14,000 คน ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านประมาณ 5,445 คน หายดีแล้วประมาณ 9,000 คน สำหรับการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อทำ Home isolation ที่สำคัญคือต้องจัดแยกส่วนพื้นที่กับคนในบ้านที่ไม่ติดเชื้ออย่างน้อย 2 เมตร จัดพื้นที่ให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก จัดม่านหรือฉากกั้น ที่สำคัญต้องแยกของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จานชาม แยกซักผ้าผู้ป่วยด้วยอุณหภูมิ 60-90 องศาฯ ส่วนห้องน้ำให้สมาชิกอื่นใช้ก่อนแล้วผู้ติดเชื้อใช้ทีหลัง พร้อมใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด
ส่วนหญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัวสามารถทำ Home isolation ได้ตามปกติกับคลินิกที่ฝากครรภ์ไว้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติต้องรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับเด็กเล็กถ้าไม่มีโรคประจำตัวอาการไม่รุนแรง สามารถทำ Home isolation โดยมีผู้ปกครองประสานกับโรงพยาบาล และคอยสังเกตอาการ หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาฯ หรือออกซิเจนต่ำกว่า 94% ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุหากทำ Home isolation ต้องอายุไม่เกิน 75 ปีไม่มี โรคประจำตัว ที่สำคัญผู้ดูแลต้องสวมหน้ากากเว้นระยะห่างตลอดเวลา ส่วนผู้ใกล้ชิดต้องคอยสังเกตตัวเองตลอดเวลาถ้าพบผิดปกติต้องรีบตรวจเอทีเคและกักตัวทันที
ส่วนกรณีที่เด็กติดเชื้อ แต่พ่อแม่ไม่ติดเชื้อ หรือพ่อแม่ติดเชื้อ แต่เด็กไม่ติดเชื้อจะมีวิธีการดูแล ในกรณีดังกล่าวอย่างไรนั้น อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือฮอสพิเทล โดยผู้ปกครองควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนามควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะโดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้ กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแลหากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดูแลต่อไป หรืออาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็กต่อไป.- สำนักข่าวไทย