สธ. 17 ม.ค.- สธ.แจงรายละเอียดคนเสียชีวิตโอไมครอน 2 ราย เป็นหญิงสูงวัยทั้งคู่ ติดเตียง มีโรคประจำตัว ติดเชื้อจากคนในครอบครัว เตือนขอให้ครอบครัวช่วยระวังกลุ่มเสี่ยง และนำมารับวัคซีนเข็ม 3 เพราะปัจจัยการติดเชื้อรุนแรงจนเสียชีวิตมาจากสูงอายุและโรคประจำตัว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 6,929 คน เสียชีวิต 13 คน และในจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่มี ผู้ป่วยปอดอักเสบ 533 คน ใส่ท่อช่วยหายใจสะสม 108 คน โดยขณะนี้พบผู้เสียชีวิตที่ยืนยันสายพันธุ์เป็นโอไมครอน 2 คน โดยรายที่ 1 เป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี จ.สงขลา มีประวัติป่วยอัลไซเมอร์และติดเตียง ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ติดเชื้อจากหลานชายที่เดินทางกลับมาจากภูเก็ต โดยเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แพร่เชื้อให้แก่คนในครอบครัว เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. มีอาการไข้ มีเสมหะ และหลานสาวตรวจหาเชื้อด้วย ATK พบผลบวก จึงส่งต่อเข้ารับรักษาที่ รพ.หาดใหญ่ และวันที่ 7 ม.ค.เริ่มมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส ไอ หายใจลำบาก แพทย์จ่ายยาเรมเดซิเวียร์ แต่ผู้ป่วยก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ม.ค. และผลตรวจยืนยันพบการติดเชื้อไอไมครอน
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 พบใน จ.อุดรธานี เป็นหญิง อายุ 84 ปี มีโรคประจำตัวมะเร็งที่ปอดระยะสุดท้าย รักษาแบบประคับประคอง ใส่ออกซิเจน ยังไม่ได้รับวัคซีน มีประวัติการติดเชื้อจากบุตรชาย เมื่อทราบว่าติดเชื้อ ในวันที่ 9 ม.ค.ตรวจด้วยวิธี RT-PCR และแจ้งขอใช้ระบบ Home Isolation ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ จึงมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13-14 ม.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรับประทานได้น้อยลง ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว 86-87% และวันที่ 15 ม.ค. เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ ออกซิเจนปลายนิ้วลดลง แม้เพิ่มยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ผู้ป่วยก็ตอบสนองน้อยลง หายใจหอบลึก และเสียชีวิตลง หลังผ่านการรักษามา 6 วัน
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วย 2 รายนี้ จะเห็นว่ามีการติดเชื้อจากคนในครอบครัว และปัจจัยสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต คือ สูงอายุ มีโรคประจำตัว ดังนั้น ขอให้ทุกครอบครัวระมัดระวัง อย่าใกล้กลุ่มคนเปราะบาง ขอให้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และพากลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ว่าธรรมชาติของคนสูงอายุระดับภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงอยู่แล้ว พร้อมมีแนวคิดปรับร่นระยะเวลาการรับวัคซีนชนิด m-RNA ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา จากเดิมการรับเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ต้องห่าง 6 เดือน เหลือแค่ 3 เดือนเท่านั้น เพื่อให้ได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เพื่อภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอน.-สำนักข่าวไทย