สธ. 3 ม.ค.- กรมอนามัย คาดการณ์หลังปีใหม่ แนวโน้มฝุ่น PM2.5 เมืองกรุงสูงขึ้น แนะเช็กค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน สวมหน้ากากป้องกัน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่31 ธันวาคม 2564 ถึง 3 มกราคม 2565 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกพื้นที่อยู่ในระดับดีถึงดีมาก เนื่องจากสภาพอากาศ ที่เปิดมากขึ้น ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงขึ้น แต่ในช่วงวันที่ 4 – 5 มกราคม 2565 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อาจมีแนวโน้มของระดับฝุ่นละอองที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และลมอ่อน ร่วมกับการจราจรที่เพิ่มขึ้นหลังเดินทางกลับจากการหยุดยาวในช่วงปีใหม่ ประชาชนจึงควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ โดยต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับค่า AQI ที่ 101–200 ถือว่าอยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่หากพบค่า PM2.5 ที่สูงกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ซึ่งเทียบเท่า AQI ที่สูงกว่า 201 ขึ้นไป อยู่ในระดับ มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และสามารถประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง และพฤติกรรมการป้องกันฝุ่นละอองได้ที่ https://4health.anamai.moph.go.th/index หรือ LINE Official https://lin.ee/P63zRoP
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแหล่งกำเนิดจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น ไอเสียรถยนต์ การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง การจุดธูป และกิจกรรมเผาไหม้อื่น ๆ ในบ้าน เป็นต้น ซึ่งวิธีการลดปริมาณฝุ่นที่ดีที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง เช่น ลดการจุดธูป ลดการเผาขยะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ แทนการกวาด เพื่อเป็นการลดฝุ่นละออง รวมทั้งป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยา และอุปกรณ์ ที่จำเป็นให้พร้อม ถ้าที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 ให้ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด
“ทั้งนี้ จากผลการสำรวจอนามัยโพลเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ประชาชนร้อยละ 80 มีความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยร้อยละ 67 กังวลผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว และร้อยละ 58 คิดว่าทำให้ โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น สำหรับในส่วนการเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ช่วงก่อนเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 พบว่า ร้อยละ 84 เตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 75 ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 63 ทำความเข้าใจระดับค่าสี PM2.5 และปฏิบัติตามคำแนะนำ ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชนกว่าร้อยละ 82 ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่ร้อยละ 70 ให้แจ้งเตือนสถานการณ์ และสื่อสารคำแนะนำด้านสุขภาพล่วงหน้า และร้อยละ 58 ให้ตรวจรถที่มีควันดำ ดังนั้น การใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ช่วยลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย