กรุงเทพฯ 24 พ.ย.-เครือข่ายผู้หญิงจัดเวที ส่งสัญญาณเตือน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล พบสถิติ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ น้ำเมาตัวกระตุ้นหลัก ช่วงโควิดรุนแรงเพิ่มขึ้น ชวนผู้หญิงอย่าทน ต้องหยุดความรุนแรงตั้งแต่ครั้งแรก
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่เดอะฮอล์บางกอกวิภาวดี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สสส.และวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (25พ.ย.) ภายใต้แนวคิด “ความรุนแรงในบ้าน ให้มันจบที่ครั้งแรก
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน ถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และเคสที่ถูกกระทำทุกเคส 100% ถูกกระทำซ้ำ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ สสส.พร้อมภาคีเครือข่าย จึงต้องเร่งเดินหน้าเชิงรุก โดยได้เปิดตัว พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ “museum of first time” ในรูปแบบ virtual นิทรรศการเรื่องราวผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่ต้องให้มันจบที่ครั้งแรก
น.ส.ชนิกานต์ สิทธิอารีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านครั้งแรกแล้วฝ่ายชายจะขอโทษและให้คำสัญญาส่วนใหญ่ผู้หญิงจะยอมให้อภัยเพราะคิดว่าจะไม่มีอีก แต่ความจริงพบว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งแรกแล้ว มักจะมีครั้งต่อไปเสมอและเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต จึงนำเรื่องราว “ครั้งแรกของผู้หญิง”หรือ “Museum of First Time”มาถ่ายทอดในพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานได้ที่ www.museumof1sttime.com และหวังให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง เพื่อให้เกิดเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19 ในช่วงวันที่ 17–23 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,692 คน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบครอบครัวที่มีความรุนแรงมากกว่า 1ครั้ง สูงถึง 75% โดยผู้ได้รับความรุนแรนส่วนใหญ่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับไป 52.2% และยังพบผู้กระทำขณะเมาเหล้า 31.4% แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ได้รับความรุนแรง 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาจากหน่วยงานใดเพราะต้องการเก็บเป็นความลับไม่รู้วิธีขอความช่วยเหลือ และคิดว่าติดต่อไปก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รวมถึงการใช้อำนาจลดปัจจัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวมถึงรณรงค์ให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิ มีทางออก มีพื้นที่ มีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพร้อมช่วยเหลือทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งติดต่อได้ทาง 02-513-2889 หรือFacebook “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” หรือโทร.สายด่วน 1300
ขณะที่ในการเสวนามีการบอกเล่าประสบการณ์ของ 1ในผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ที่เล่าว่า ช่วงเธอวัยรุ่นอายุ 17 ปี คบกับแฟนอายุห่างกันกว่า10ปี ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งคู่ ทำให้มักมีเรื่องทะเลาะตบตีรุนแรง เคยถูกเหยียบศรีษะต่อหน้าเพื่อนในวงเหล้า จนทนไม่ไหวขอเลิก แต่ผู้ชายไม่ยอมเลิก ซ้ำร้ายยังตั้งครรภ์ จึงทนอยู่ต่อไปเพื่อลูก แต่สุดท้ายทนไม่ได้อีกเพราะเขายังทำร้ายร่างกาย ทำแล้วซ้ำเล่า และยังทำลูกด้วย จึงตัดสินใจออกมาเด็ดขาด และคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเราที่พาตัวเองไปอยู่ในวงจรแบบนั้น จึงขอฝากถึงผู้หญิงให้รักตัวเอง.-สำนักข่าวไทย