กทม. 12 พ.ย.-ก.แรงงาน ได้ข้อยุติแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านการทำ MOU กับเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คาดจะนำเข้าแรงงานได้ภายใน 30 วันนับจากนี้ โดยนายจ้างมีภาระค่าใช้จ่ายกักตัวไม่เกิน 2 หมื่นบาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการกำหนดแนวทางการทำ MOU เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ลาว, เมียนมา และกัมพูชา สู่ประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงานในภาคการก่อสร้าง ภาคผลิตอาหาร และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการแรงงานประมาณ 2 แสนคน ว่า ล่าสุดทาง ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางที่กระทรวงแรงงานนำเสนอ คือ ให้ผู้ประกอบการที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวจากทั้ง 3 ประเทศ ทำคำร้องแสดงความต้องการให้กรมการจัดหางานพิจารณาอนุมัติตามความจำเป็น เมื่อได้รับอนุญาต จะส่งคำร้องไปยังสถานทูตของประเทศต้นทางของแรงงาน ให้แจ้งต่อนายหน้าจัดหางานในประเทศต้นทางจัดหาแรงาน เมื่อหาแรงานได้แล้ว จึงแจ้งกลับมายังกรมการจัดหางาน เรียกให้นายจ้างชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน เพื่อนำไปออกวีซ่า โดยจะต้องมีการตรวจ ATK แรงงานทุกคน เมื่อได้ผลเป็นลบจึงพาข้ามมาในราชอาณาจักร เพื่อเข้าสู่กระบวนการกักตัวในสถานที่ที่ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายจัดหาไว้ ซึ่งหากแรงงานรายใดมีหลักฐานยืนยันได้ว่าผ่านการรับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ก็จะใช้ระยะเวลากักตัว 7 วัน แต่ถ้าได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม หรือไม่เคยได้รับวัคซีน ต้องผ่านการกักตัว 14 วัน ระหว่างนั้นจะมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT PCR 2 ครั้ง ก่อนออกจากสถานกักตัวมารับวัคซีนที่กระทรวงแรงงานจัดหาไว้ให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ก่อนเริ่มประกอบอาชีพ แต่ช่วง 3-4 เดือนแรก ก่อนเข้าระบบประกันสังคม นายจ้างต้องจัดหาประกันสุขภาพโควิด ให้แก่แรงงานเพื่อรองรับกรณีแรงานเจ็บป่วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน สรุปภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระในช่วงการกักตัวของแรงงานต่างด้าวว่า หากเป็นกรณีกักตัว 7 วัน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 11,000 -12,000 บาท กักตัว 14 วันไม่เกิน 2 หมื่นบาท
จากนี้จะส่งผู้ตรวจกระทรวงแรงงานไปประจำด่านเข้าเมือง 5 จุดทั่วประเทศ เพื่อคอยประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการจัดหาสถานที่กักตัวให้เป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด คือ ด่านระนอง กับ ตาก เพื่อรองรับแรงงานเมียนมา, ด่านหนองคาย กับ มุกดาหาร เพื่อรองรับแรงงานลาว, ด่านสระแก้ว เพื่อรองรับแรงงานกัมพูชา
โดยมั่นใจว่าประเทศต้นทางแต่ละประเทศมีความต้องการส่งออกแรงงานและกำลังรอสัญญาณการให้อนุญาตนำเข้าแรงงานจากไทย คาดว่าจะเริ่มต้นนำเข้าแรงงานต่างด้าวด้วยช่องทางการทำ MOU กับทั้ง 3 ประเทศได้ภายใน 30 วันจากนี้ และปัญหาการนำเข้าแรงงานโดยผิดกฎหมายจะน้อยลง เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงนำเข้ามาแล้วต้องมาถูกจับกุมดำเนินคดี พร้อมกับกำชับให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากมีการร้องเรียนการประพฤติมิชอบก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการทางวินัยและอาญา.-สำนักข่าวไทย