กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุ “โจ๊กเกอร์” ที่ออกมาไล่แทงคนและจุดไฟเผารถไฟใต้ดินที่ญี่ปุ่น ถือเป็นความรุนแรงบนท้องถนน ผู้ปกครองควรพูดคุยกับบุตรหลาน กรณีดูสื่อที่ใช้ความรุนแรง และควรตกลงเป็นกติกาว่าห่วงเรื่องความรุนแรง
จากกรณีคนร้ายแต่งตัวเป็น “โจ๊กเกอร์” ในค่ำคืนวันฮาโลวีน อาละวาดไล่แทงผู้คนและจุดไฟเผารถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 17 คน สอดคล้องกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย ที่เคยออกมากล่าวเตือนว่า การเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงจากซีรีส์ “Squid Game” ผู้ปกครองควรกำกับดูแลบุตรหลาน โดยให้พิจารณาเนื้อหาที่มีความรุนแรงลักษณะนี้ เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ และอาจจะก่อเหตุขึ้นจริงได้
ส่วนมุมมองของนักจิตวิทยา นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มองประเด็นนี้ว่า จากปัญหาความรุนแรงจะมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความรุนแรงบนท้องถนน และความรุนแรงในครอบครัว เรื่องของ “โจ๊กเกอร์” ที่ออกมาไล่แทงคนและจุดไฟเผารถไฟใต้ดิน ถือเป็นความรุนแรงบนท้องถนน ซึ่งผู้ก่อเหตุมีทั้งอาการป่วยทางจิตและไม่ป่วยทางจิต กลุ่มคนที่เปราะบางมากกว่าคนอื่น ก็จะได้รับผลกระทบจากการรับสื่อมากกว่าคนอื่น เพราะไม่มีความมั่นคงภายในเพียงพอ
สำหรับผู้ปกครอง ควรจะต้องมีการตกลงเป็นกติกากับบุตรหลานว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีความเป็นห่วง หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ควรส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ จะช่วยทำให้บุตรหลานไม่มีอาการหลงผิดได้. – สำนักข่าวไทย