กรมราชทัณฑ์ 8 ต.ค.- กรมราชทัณฑ์ ส่งผู้ต้องขังพักโทษใส่อีเอ็มเข้าทำงาน บริษัท อะไหล่รถยนต์เดลต้าฯ เริ่มจันทร์นี้ ตั้งเป้า “สมุทรปราการโมเดล” 500-1,000 คน
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงมาตการสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษเพื่อคืนสู่สังคม ลดความแออัดในเรือนจำและลดการกระทำผิดซ้ำ ว่า ในวันจันทร์ที่ 11 ต.ค.นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเป็นประธานเริ่มโครงการส่งผู้ต้องขังพักโทษเข้าทำงานตามแนวทางนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยนำร่องสมุทรปราการโมเดลคัดเลือกผู้ต้องขังจากทุกประเภทคดีที่รับโทษในเรือนจำแล้ว 1ใน 3 ของโทษทั้งหมด และเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี ผ่านการอบรมพัฒนาพฤตินิสัย อาชีวะบำบัด ฝึกฝีมือแรงงาน และทักษะการทำงานยุคโควิด เข้าทำงานที่บริษัทเดลต้า อิเลคทรอนิกส์ ผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ เพื่อให้ผู้ต้องขัง ได้พักโทษใส่กำไลอีเอ็ม ออกสู่เรือนจำได้ปรับตัวสร้างอาชีพ โดยระหว่างทำงานจะต้องเข้าสู่ระบบคุมประพฤติ ใส่กำไลอิเลคทรอนิกส์ และรายงานตัวจนกว่าจะครบกำหนดพ้นโทษ โดยมีเป้าหมายนำผู้ต้องขังพักโทษเข้าสู่งานนิคมอุตสาหกรรม 500-1,000คน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ผู้ต้องขังที่ไปทำงานจะติดกำไลอีเอ็ม ได้รับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและตามทักษะการทำงาน มีผู้ประกอบการเป็นผู้อุปการะ ตลอดระยะ เวลาที่ทำงาน พร้อมจัดหาที่พักให้ หากพ้นคุมประพฤติก็สามารถสมัครเข้าทำงานต่อได้ ส่วนผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีและเป็นส่วนหนึ่งในการคืนคนดีสู่สังคม
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษพบสาเหตุเรื่องอาชีพและรายได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำผิดซ้ำ จากสถิติพบว่าปีแรกหลังพ้นโทษ มีการทำผิดซ้ำ 15% พ้นโทษปีที่2 ทำผิดซ้ำ 25% และปีที่3 ทำผิดซ้ำมากถึง 35% การสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังจึงเป็นเรื่องสำคัญและพบว่าหากติดตามให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ มีผลอย่างชัดเจนที่ทำผิดซ้ำลดลงมากกว่า 6% ซึ่งการพักโทษ ใส่กำไลอีเอ็ม สร้างอาชีพให้ นอกจากช่วยลดความแออัดแล้วยังลดค่าใช่จ่ายของภาครัฐในค่าเลี้ยงดูต่อวัน เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังจากกว่า 300,000 คน ให้เหลือกว่า 200,000คน เพื่อปฏิบัติดูแลผู้ต้องขังให้เป็นตามมาตรฐานสากลซึ่งปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ ได้เปลี่ยนการจัดพื้นที่นอนให้มีพื้นที่กว้างขึ้นเป็น 1.6 ตารางเมตรต่อคนแล้ว.-สำนักข่าวไทย