กรุงเทพฯ 15 ก.ย.- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการ แนวทางในการพัฒนาสถาบันครอบครัว กับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่
ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ผ่านสื่ออิเลกทรอนิกส์ในรูปแบบ Virtual Event Online เพื่อทบทวนปัญหา รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางการดำเนินงานด้านครอบครัวในทุกระดับ และรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย อันนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมผ่านสื่อในครั้งนี้
นางพัชรี กล่าวว่ากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ สค. ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัว ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงได้จัดการประชุมขึ้น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
ในการระดมความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการ แนวทางในการพัฒนาสถาบันครอบครัวกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น สถาบันครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายช่วงวัย จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดสมดุลในยุค New Normal ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นให้ชีวิตปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที โดยต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือด้านการสร้างอาชีพ รายได้ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลข่าวสารการเรียนรู้ และด้านอื่นๆ เพื่อให้ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด โดยเฉพาะกับครอบครัวกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งเป็นแรงกำลังในการขับเคลื่อนภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ให้ประเทศเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรม มีทั้งการเสวนา “วิกฤติและโอกาสของครอบครัวไทยในยุค COVID-19” การเสวนาและอภิปรายกลุ่มย่อย “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ได้แก่ ห้องย่อยที่ 1 : ครอบครัวไทยรับมืออย่างไรในภาวะวิกฤติ COVID-19 ห้องย่อยที่ 2 : COVID-19 กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และห้องย่อยที่ 3 : การจัดการเชิงนโยบายสร้างสมดุลครอบครัวแบบบูรณาการ เพื่อนำเสนอผลการประชุมสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 และรับรองร่างข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 ต่อไป.-สำนักข่าวไทย