กรุงเทพฯ 12 ก.ย.- ปภ.สรุปจำนวนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่ 7 กันยายนถึงปัจจุบันมี 24 จังหวัด ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อน หลายเขื่อนเริ่มมีน้ำมากระดับเกินกว่า 80 % ของความจุ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 7 กันยายนถึงปัจจุบัน มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 24 จังหวัด ในพื้นที่ 71 อำเภอ 147 ตำบล 493 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,556 ครัวเรือน
ล่าสุด กรมชลประทานรายงานวันนี้ (12 ก.ย.) ว่าสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้มีจํานวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลําพูน สุโขทัย กําแพงเพชร เลย ขอน แก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ระยอง เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช
ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญ ล่าสุด เขื่อนภูมิพล มีน้ำ 37 % ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์ 40 % เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 48 % เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 22 % ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความจุน้ำค่อนข้างมาก ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา 87 % ของความจุ เขื่อนหนองปลาไหลและเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง 85 % เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี 85 % เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 81 % เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณใน จ.กาญจนบุรี 73 %
สำหรับเขื่อนใหญ่อย่างภูมิพล ซึ่งฝนตกหนักช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล เผยว่าเขื่อนภูมิพลยังสามารถรองรับน้ำใหม่ได้อีกกว่า 8,470 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือประมาณ 62.9 %ของความจุ และหากฝนตกทางตอนเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ทางเขื่อนก็ยังมีความสามารถรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาได้มาก จะได้มีน้ำเพียงพอต่อการระบายน้ำในฤดูแล้งปีถัดไป
ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันนี้ (12 ก.ย) แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณ 1,158 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 327 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำนักงานชลประทานที่ 12 ต้องเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนที่ อ.เมืองชัยนาท ไม่ให้เกินระดับเก็บกัก 16.50 เมตร โดยระบายน้ำท้ายเขื่อนในปริมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 239 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีระดับสูงขึ้น 1 เมตร 33 เซนติเมตร แต่ยังไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ริมตลิ่ง คาดว่าปริมาณน้ำจะสูงขึ้นอีก จึงขอให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สำหรับเกษตรกรควรเตรียมป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย