สธ. 9 ก.ย.- สธ.ย้ำช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโควิด-19 ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ ต้องดูค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง และการพิจารณาสถานการณ์ต้องดู 14 วัน หลังคลายล็อก

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และวัคซีน ว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาที่มีอัตราการระบาดมากกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 2.5 เท่า กำลังทำให้ผู้ติดเชื้อเดือน มิ.ย.-ก.ย.64 กลับมาสูงกันถ้วนหน้าในทุกประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี อินเดีย ซึ่งขณะนี้ไทยจับตามองผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้มงวดกวดขันชายแดนตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเรายังไม่พบสายพันธุ์ C.1.2 หรือมิว ก็ตาม

สำหรับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,031 ราย อาจทำให้วิตกว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อหรือไม่นั้น แต่ความเป็นจริงต้องดูค่าเฉลี่ยใน 7 วันย้อนหลัง ซึ่งนับจากการคลายล็อก 1 ก.ย.64 กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา และขณะนี้ยังไม่ครบ 14 วัน หลังคลายล็อก ซึ่งจะต้องประเมินตัวเลขอีกครั้ง เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตและยอดผู้หายป่วย เมื่อดูกราฟแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องดูภาพรวมวันพรุ่งนี้ว่าตัวเลขจะเพิ่มหรือลด เมื่อแยกรายจังหวัดพบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง แต่เพิ่มในต่างจังหวัด

ส่วนข้อวิตกว่ามีการตรวจเชิงรุกน้อยลงหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การตรวจเชิงรุกจะตรวจในกลุ่มเสี่ยงของคลัสเตอร์ใหม่ๆ เมื่อพบผู้ป่วยน้อยลง อาจลดจำนวนการตรวจเชิงรุกลงไปตามนั้น แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะตรวจเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง เช่น ที่ กทม.จะสุ่มตรวจคนทำงานในตลาดต่างๆ กลุ่มแรงงานต่างด้าว ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้ออาการหนักหรือปอดอักเสบ ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน มีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่กลับเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดอื่นๆ อีก 48 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 93% ยังคงเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง
สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 จนถึง 8 ก.ย.64 ยอดรวมการฉีดสะสมกว่า 38 ล้านโดส ส่วนความครอบคลุมการได้รับบริการวัคซีนในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ฉีดไปแล้ว 50.4% ของประชากร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ฉีดไปแล้ว 94.2% ไทยขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมาก

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงยอดผู้เสียชีวิตที่ยังคงมีจำนวนสูงเกิน 200 รายหลายวัน ว่า เป็นผลต่อเนื่องมาจากระยะเวลาของการรักษาที่ใช้เวลายาวนานขึ้น เช่น ผู้เสียชีวิตบางรายใช้เวลารักษาตัวยาวนานถึง 45 วัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อมาก กลายเป็นยอดของในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ต้องดูทุก 14 วัน ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการอย่างไร.-สำนักข่าวไทย