สบส. 2 ก.ย.-กรม สบส.ร่วมภาคีเครือข่ายผลักดันแรงงานต่างด้าว เขตราษฎร์บูรณะ เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพ อสต. ทั้งหน้าเก่าและใหม่ สร้างทักษะในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพให้เพื่อนร่วมชาติ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ เกิดเป็นชุมชนต่างด้าวที่สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่โรงงานที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นจากทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดติดต่อของโรค โควิด 19 ในแรงงาน และหากเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ขึ้นแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว คือ เรื่องการสื่อสาร การขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง รวมถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบการพักรักษาตัวแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น และปิดช่องว่างในเรื่องการสื่อสาร การผลักดันแรงงานต่างด้าวให้เป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)” รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของ อสต.ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีบทบาทในการแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน และทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี จึงถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้กลยุทธ์การแยกกักตัวที่บ้าน ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวประสบผลสำเร็จ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ได้
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า เขตราษฎร์บูรณะเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนโรงงาน และสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำงาน และเกิดการติดเชื้อโรคโควิด 19 ในพื้นที่นี้ เช่นโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่ง ในเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 จำนวน 440 คน ทำให้โรงงานหาวิธีจัดการกับผู้ป่วยเหล่านี้ โดยการส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแรงงาน และบางส่วนได้เข้าระบบกักตัวในชุมชน จนขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการหายดี และบางส่วนก็ได้กลับมาทำงานตามปกติแล้ว และด้วยแนวคิดที่ต้องการดูแลสุขภาพของคนงาน ให้มีความยั่งยืนและทั่วถึงมากขึ้น คนงานสามารถดูแลตนเองได้ และมีความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถบอกต่อ และดูแลตนเองได้ จึงอยากให้มีการพัฒนาศักยภาพของแรงงานขึ้น
กรม สบส.จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต มูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ อสต. ให้กับโรงงานสิ่งทอดังกล่าว เพื่อผลักดันให้เกิด อสต.หน้าใหม่ รวมทั้งดำเนินการพัฒนาศักยภาพ อสม.ที่มีอยู่เดิม โดยเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติให้ อสต.สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง ตลอดจนเน้นในเรื่องของการส่งเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพ ให้สามารถดูแลตนเอง และเพื่อนร่วมชาติได้ทั้งในยามภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ซึ่งภายหลังการอบรม อสต.หน้าใหม่ก็ได้มีการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ในชุมชนโดยรอบโรงงาน เพื่อสื่อสารความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน สร้างเป็นชุมชนต่างด้าวที่สามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป .-สำนักข่าวไทย