กรุงเทพฯ 1 ก.ย.-กองทัพบก จับมือ รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง เปิด รพ.สนามในมณฑลทหารบกที่ 11 เฟส 3 อีก 188 เตียง รวมจาก 2 เฟส ก่อนหน้านี้ 306 เตียง เป็นจุดบริการครบวงจร ตรวจ ATK และ RT-PCR ต่างจากเฟส 1-2 ที่รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดเหลืองแดง ส่วนในเฟส 3 ถ้าตรวจ ATK เจอ ให้พักคอยในนี้ รอผลตรวจ RT-PCR ถ้าติดให้เข้าโรงพยาบาลเลย ตั้งเป้าตรวจ 1,000 คนต่อวัน
นพ.พิชญา นาควัชระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง ผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลสนาม มณฑลทหารบกที่ 11 กล่าวว่า กองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 11 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกลุ่ม Thonburi Healthcare Group โดยโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จะดำเนินการขยายเตียงของโรงพยาบาลสนาม มณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ เฟส 3 เพิ่มเติมอีก 188 เตียง ซึ่งเป็นศูนย์พักคอย ระดับสูงเพื่อเข้าสู่ระบบ community isolation (CI plus)
สำหรับในเฟส 3 นี้ จะมีการเพิ่มการบริการตรวจ ATK และ RT-PCR ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงแบบ walk thru และ drive thru โดยจำกัดการตรวจ ATK 1,000 ราย/วัน (นัดผ่านระบบ que que และ RT-PCR 400 ราย/วัน (แบบ drive thru) โดยควรมีการลงทะเบียนล่วงหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระบบการจราจรใน มทบ.11
การบริการการตรวจ ATK จะมีเตียงรองรับผู้เปราะบาง188 เตียง ซึ่งจะเข้าพักคอยรอผลการตรวจ RT-PCR เพื่อนำส่งฮอสพิเทล (hospitel) หรือ รพ.สนาม หรือสามารถพักในศูนย์พักคอยระดับสูง(CI plus) โดยการส่งต่อผู้ป่วยขึ้นกับสภาวะการเจ็บป่วย ส่วนผู้ป่วยผลบวกจากATKที่เเข็งแรงจะได้รับยาและเข้าสู่ระบบHome Isolation (HI)
หลังจากที่ในเฟส 1 (รพ.มทบ.11-1) ได้เปิดดำเนินการจำนวน 154 เตียง ไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค.เเละเฟส 2 (รพ.มทบ.11-2) ซึ่งเปิดดำเนินการในวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 152 เตียง โดยมีความเพียบพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับ ICU และระบบสนับสนุนต่างๆซึ่งมีความทันสมัยสูงสุด เช่น CCTV ซึ่งสามารถพูดโต้ตอบกับคนไข้ เเละพยาบาล ในห้องโซนโควิดเเดงได้ทุกเตียง การสร้างห้องน้ำห้องอาบน้ำความดันลบไว้ในหอผู้ป่วยเพื่อความสะดวกของผู้ป่วยที่ยังพอลุกจากเตียงได้โดยที่ไม่ต้องเดินไกล พร้อมทั้งมีห้องฝึกอบรมพยาบาลและบุคลากรอื่นๆ ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติงานดูแลคนไข้โควิดในห้อง ICU จำลองเสมือนจริงแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีการแบ่งเนื้อหาชุดวิชา ของการฝึกอบรมเป็น 7 สถานี ตามขั้นตอนสำหรับการปฏิบัติงานจริง และปัจจุบันได้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการใน รพ.ทั้งสองเฟสจนเต็มขีดความสามารถ
การบริการ ในเฟส 1และ 2 มีจำนวนเตียงรวมกัน 306 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดระดับสีแดง 178 เตียง ระดับเหลือง 128 เตียง มีขีดความสามารถของอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) 36 เครื่อง เครื่อง high flow 126 เครื่อง และรองรับผู้ป่วยระดับ oxygen cannula อีก 144 เตียง
โดยในกรณีจำเป็น ได้เตรียมอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสถานที่เพื่อรองรับการเพิ่มของเครื่องช่วยหายใจventilatorได้สูงสุดถึง 118เครื่อง (ในบริเวณชั้นล่างของยูนิต A B C D ของ มทบ.11 เฟส 1 จำนวน 58 เตียง และ ชั้นล่างของยูนิต W X Y Z ของ มทบ.11เฟส 2 จำนวน 60 เตียง) ส่วนเครื่องhi flow เตรียมไว้ถึง 160 เครื่อง รวมถึงจะเปิดการบริการการล้างไตในห้องความดันลบ ให้แก่ผู้ป่วยโควิดเขียว ซึ่งอาจไม่สามารถหาศูนย์ล้างไตที่ปลอดภัยได้
เมื่อรวมการบริการเต็มโครงการจะทำให้มีจำนวนเตียง 494 เตียง ซึ่งมีขีดความสามารถขั้นสูงสุดในการรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืองและโควิดเเดง
ทั้งนี้ นพ.พิชญา นาควัชระ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าการปฏิบัติการครั้งนี้มีเจตนาเพื่อเป็นการช่วยเหลือดูแลรักษาผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงการรักษาให้มากที่สุดและดีที่สุดอย่างถ้วนหน้าทุกๆคน .-สำนักข่าวไทย