ดีเอสไอ 30 ส.ค.-ดีเอสไอ แจงข้อมูลการคืนรถยนต์ลัมโบร์กินีอดีต ผกก.โจ้
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกแถลงการณ์แจงข้อมูลการคืนรถยนต์ลัมโบร์กินีของกลาง ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงชี้แจงถึงผลการดำเนินคดี กรณีการดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้ารถยนต์ราคาแพง (รถหรู) โดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รายรถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กีนี หมายเลขรุ่น AVENTADOR หมายเลขตัวรถ ZHWEC1ZD6DLA02280 หมายเลขเครื่องยนต์ L53901702 (คดีพิเศษที่ 199/2560) ของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองสวรรค์ ไปแล้วนั้น และมีการสอบถามถึงการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางในคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว จึงขอเรียนชี้แจงให้ทราบเพิ่มเติม ดังนี้
- คดีพิเศษที่ 199/2560 มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด 8 ราย ในความผิดหลักตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 (มาตรา 27 และมาตรา 115 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469) พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (มาตรา 165 มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527) ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา และรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลางในคดีพิเศษ และในระหว่างการดำเนินคดี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้อนุญาตให้ผู้ครอบครองหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องขณะนั้น
คือ นายธิติสรรค์ อุทธนผล ทำสัญญานำรถยนต์ไปเก็บรักษาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85/1 ระหว่างการสอบสวน - พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมตัวผู้ต้องหารวม 8 ราย และบัญชีของกลาง ไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยมีความท้ายรายงานการสอบสวนว่า “รถยนต์ของกลางนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 166 บัญญัติว่า ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของพึงต้องริบ ตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งสอดคล้องกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 244 และ 242 ตามลำดับ ทั้งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 ได้บัญญัติให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อรักษาหลักการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร จึงเห็นควรขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางในคดีนี้ด้วย” และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-8 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระบวนการนำเข้ารถยนต์คันดังกล่าวรวม 8 ราย
- พนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้ว วินิจฉัยว่า บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 7 อยู่ในกระบวนการนำรถยนต์ของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรและสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 7 ราย และมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 1 ราย (นาย ส.) ต่อมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอัยการสูงสุดแล้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เพื่อให้ชี้ขาดความเห็นตามกฎหมาย
- สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีหนังสือ ที่ อส 0017.4/4 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค (เจ้าของสำนวน) แจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ระบุว่า “พนักงานอัยการได้มีความเห็นและคำสั่งในคดีแล้ว และมีของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ตามบัญชีของกลางที่ส่งมาด้วย ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85”
- ความเห็นตามข้อ 4 ตามกฎหมายถือว่าพนักงานอัยการมีดุลยพินิจออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล แต่ไม่ขอให้ศาลริบรถยนต์ของกลางตามที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษร้องขอ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงคืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้ครอบครองหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นไปในรูปของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีพนักงานอัยการจากสำนักงานการสอบสวนร่วมการสอบสวน มีที่ปรึกษาคดีพิเศษร่วมให้ข้อมูล ก่อนจะร่วมกันตัดสินใจในทุกขั้นตอน และการสืบสวนสอบสวนมีการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายในทุกขั้นตอน และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะชี้แจงข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ยังมีข้อสงสัยในการดำเนินคดีทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายให้สามารถเปิดเผยได้.-สำนักข่าวไทย