สำนักข่าวไทย 1 ก.ค.-ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ยันทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดไม่ใช่การแฮ็กระบบ แต่เป็นพฤติกรรมของจิตอาสาค่ายมือถือ ว่าจ้างแอบเข้าระบบมาเติมสิทธิ์ คาดมีคนสวมสิทธิ์มากถึง 7 พันคน และจ่ายใต้โต๊ะคนละ 400-1,200 บาท มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ์ ผอ.สถาบันโรคผิดหนัง และในฐานะ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวชี้แจงการแก้ไข ปัญหาทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด ว่า เริ่มพบเห็นความผิดปกติ ในการฉีดวัคซีน ที่สถานีกลางตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการแฮ็กข้อมูลเข้าระบบของสถาบันโรคผิวหนัง หรือเครือข่ายมือถือ แต่เป็นเรื่องของช่องโหว่ที่เปิดให้สิทธิกับกลุ่มจิตอาสา ที่ทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเข้ามาเติมสิทธิของคนเข้ามาในระบบ ซึ่งเดิมปกติมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการอัปโหลดเข้ามูล 10 คน และจะทำเสร็จเวลา 22.00 น. ซึ่งในช่วงเวลานั้น จะมีการเปิดคิวฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เฉลี่ย 300 คน/วัน แต่ปรากฏว่าคนจำนวนรับวัคซีนมากผิดสังเกต เพิ่มเป็นหลัก 10 คนต่อวัน จึงได้มีการประสานตำรวจไซเบอร์ และตำรวจรถไฟ และเจ้าหน้าที่ของกรมแพทย์ วางแผนจับกุมขบวนการนี้ เนื่องจากพบว่ามีการจองสิทธิ์ผิดสังเกตเป็นหลัก 1000-2000 คน/วัน ในระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค. เฉลี่ยวัน 2000 คน รวมคาดว่ามีผู้สวมสิทธิ์เข้ามาในขบวนการนี้ช่วงเวลานี้ประมาณ 7,000 คน
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่าทั้งนี้ในวันที่ 28 ก.ค. จึงได้มีการวางล่อซื้อ และจับกุมร่วมกับตำรวจไซเบอร์ จากการตรวจสอบพบว่า ในวันนั้นมีผู้สวมสิทธิ์เข้ามาฉีดวัคซีน 600 คน แต่สามารถจับกุมและกักตัวให้พยานได้ 300 คน และฉีดวัคซีนให้ แต่แลกเปลี่ยนให้ทั้งหมดต้องกรอกข้อมูลรายละเอียดเส้นทางการได้มาของสิทธิ์ฉีดวัคซีน บ้างว่ามาจากเพื่อน บ้างก็ว่าติดต่อทางไลน์ บ้างก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ และมีการเสียค่าใช้จ่าย ระหว่าง 400-1,200 บาท ซึ่งหากมีผู้หลงเข้าในรับบริการในลักษณะนี้มี 7,000 คน มูลค่าความเสียหายรวม 7 ล้านบาท พร้อมกันนี้เตรียมตรวจสอบย้อนหลังก่อนวันที่ 18 ก.ค. ว่าจะมีการสวมสิทธิ์เช่นนี้หรือไม่ และจากการขยายผลพบว่ามีการซื้อขายสิทธิ์ยาวไปถึงวันที่ 8 ส.ค. เบื้องต้นคาดว่าอาจมีผู้เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบจิตอาสาร้อยละ 98 ไม่มีปัญหา เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ พร้อมช่วยเหลือและทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี และมีเพียงแค่ร้อยละ 2 ที่เป็นแบบนี้ และไม่เกี่ยวข้องกับค่ายมือถือ เนื่องจากกลุ่มคนที่ทำพฤติกรรมนี้เป็นเพียงลูกจ้างของค่ายมือถือที่เข้ามาช่วยงานและยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิด เพราะต้องสอบสวนหาตัวใหญ่กว่านี้ คนที่ทำพฤติกรรมนี้ต้องเข้าใจและรู้ระบบการทำงาน อย่างไรก็ตาม พบว่าความผิดปกตินี้เกิดขึ้นใน 11 ยูสเตอร์ จาก 19 ยูสเซอร์ และมีความผิดปกติหนัก ใน 4 ยูสเซอร์ มีอัพโหลดข้อมูลสิทธิ์ของคนฉีดมากกว่า 400-500 คนต่อวัน พฤติกรรมนี้จะมีการนัดหมายให้เข้ามาเฉพาะประตู 4 เท่านั้น และหากมีใครสอบถามก็ให้ตอบเหมือนกันทั้งหมด ที่ผ่านมาศูนย์ฉีดไม่เคยพบปัญหา เริ่มพบปัญหาเมื่อมีการฉีดแบบวอล์กอิน กลายเป็นช่องโหว่ และส่วนใหญ่ของคนที่เข้าสวมสิทธิ์เป็นคนในพื้นที่ กทม. คาดว่าไม่นานตำรวจจะสามารถจับตัวผู้บงการได้ และสาวถึงกระบวนการ เพราะมีไอพีแอดเดรส และ 5 บัญชีที่เป็นการโอนเงิน สามารถสอบเส้นทางการเงินได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การป้องกันและปิดช่องโหว่ของข้อมูล ได้สั่งการให้ปิดระบบและคอมพิวเตอร์ทั้งหมดตั้งแต่ 18.00 น. ไม่เป็นระบบค้างไว้ข้ามคืน เพื่อป้องกันข้อมูล และผู้ที่เปลี่ยนแปลงข้อมูล จากนี้จะไม่ใช่จิตอาสาอีกต่อไป แต่เป็นเจ้าหน้าที่กรมฯ
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ส่วนการทุจริตเรื่องวัคซีนจะมีเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องรอการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประมาณ 19 คน อิงจากจำนวนยูสเซอร์ ทั้งนี้ยังคงเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ เพราะผู้จับพิรุธเรื่องนี้ เป็นเจ้าหน้าที่กรม มารายงานและได้วางแผนจับกุม ส่วนการฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม ที่เป็นการเริ่มฉีดในกลุ่มคนลงทะเบียนล่วงหน้า มี 20,000 คนต่อวัน เฉลี่ยอย่างละครึ่งเป็นผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค คนท้อง และคนอายุ 18 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยังคงเป็นกลุ่มเดียวที่อนุญาตให้วอล์กอินได้ ส่วนวัคซีนที่ที่ฉีดในสถานี ยังคงเป็นแอสตราฯ เป็นหลัก ยังไม่ใช้สูตร SA (ซิโนแวค+ แอสตราฯ) เพราะยังไม่ได้การสั่งการ ส่วนกลุ่มคนที่รับวัคซีนไปก่อนหน้านั้น จะเริ่มมารับเข็ม 2 ในสิ้นเดือนสิงหาคม.-สำนักข่าวไทย