สธ. 23 ก.ค.-สธ.แจงการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนกับโอกาสการติดเชื้อ เป็นการศึกษาในกรอบพื้นที่จังหวัด โดยติดตามกลุ่มคนที่สัมผัสเสี่ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และนำมาคำนวณหาค่าประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งการศึกษาในช่วงนั้นยังคงเป็นการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อัลฟา

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ดูเหมือนจะควบคุมได้ แต่ก็กลับเพิ่ม แม้แต่ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรครอบคลุมถึง 60% ทำให้คาดการณ์ว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปในที่สุด ที่น่าสนใจคือ สถานการณ์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ลำดับ 6 ของโลก เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีน้อย แต่ปัจจุบันกลับมากถึง 40,000 ราย/วัน แต่แม้ติดเชื้อมาก ก็ยังมีผู้เสียชีวิตน้อยลงกว่าการระบาดรอบแรก เพราะการเสียชีวิตขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
ในไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 10,000 ราย มานับสัปดาห์ ถือเป็นการระบาดเข้าสู่วงกว้าง การติดเชื้อรายใหม่ตรวจพบจากการคัดกรองเชิงรุก รวมทั้งในเรือนจำ ภาพรวมประเทศผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในขาขึ้นที่สูงมากเพิ่มเป็น 2 ทุกๆ สัปดาห์ หากแยกกรุงเทพฯ ปริมณฑล กับต่างจังหวัด พบในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มสูง แต่เส้นกราฟไม่ชัน อยู่ในช่วงชะลอตัว
ส่วนสาเหตุการมียอดผู้เสียชีวิต 100 รายโดยประมาณ เพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ย่อมเพิ่มจำนวนผู้มีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วย เชื่อว่าแนวโน้มผู้เสียชีวิตจะน้อยลงในอีก 1 สัปดาห์จากนี้

ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศ ฉีดได้ประมาณวันละ 300,000 เข็ม ยอดรวมตั้งแต่เริ่มต้นฉีด 15,388,939 ล้านโดส การฉีดวัคซีนมีเป้าหมาย คือ 1. ลดการป่วยรุนแรง 2. ปกป้องระบบบริการสุขภาพให้สามารถดูแลคนไข้ได้ นั่นคือฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งฉีดครอบคลุม 100% ของเป้าหมายแล้ว 3. ฉีดในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งขณะนี้กระบวนการจัดลำดับการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ กำลังเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ในประชาชนปกติ 1,000 คน จะมีการเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด 1 คน เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง อัตราเสียชีวิตจะสูง คือ 10 คน เสียชีวิต 1 คน อัตราห่างกันเป็น 100 เท่า จึงอยากให้นำผู้สูงอายุ คนมีโรค มาฉีดวัคซีนกันให้ครบ และว่าเราคงต้องอยู่กับโควิดไปอีกระยะหนึ่ง โควิดจึงไม่น่ากลัวจนเราไม่สามารถควบคุมได้ ขึ้นอยู่ที่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

ส่วนการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ก่อนหน้านี้ได้คำนวณว่า วัคซีนซิโนแวคและแอสตราฯ มีประสิทธิผล 90% ในการป้องกันการติดเชื้อ เป็นวิธีประเมินโดยวัดจากการใช้จริง เพื่อสามารถเปรียบเทียบได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงหรือไม่ กับอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนได้ คือ ต้องดูการป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์เดียวกันที่เกิดขึ้น ดังนั้น การเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละตัวในการป้องกันการติดเชื้อต่างสายพันธุ์จึงเป็นการยาก

สำหรับประเทศไทยใช้วัคซีนซิโนแวค ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข การศึกษาผลจึงทำในพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนไว้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 พื้นที่การศึกษา คือ 1. จังหวัดภูเก็ต การศึกษาในผู้ที่สัมผัสกับคนติดเชื้อ เพื่อดูว่าจะมีการติดเชื้อหรือไม่ โดยซักประวัติว่าเขาเหล่านั้นได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ และติดเชื้อแค่ไหน, สัมภาษณ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1,541 คน และติดตามว่าติดเชื้อหรือไม่ ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ จึงพบผลบวก 124 คน พบผลเป็นลบ 1,417 คน นำไปสู่หลักการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีน เป็นเปอร์เซ็นต์ตามพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น การพูดถึงประสิทธิผลของวัคซีนว่า 90% บอกถึงศึกษาในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่นั้นๆ
เช่นเดียวกับการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่สมุทรสาคร มีการศึกษากลุ่มเสี่ยงสูง 490 คน และสัมภาษณ์ติดตามผู้ได้รับวัคซีนที่ภูเก็ตและเชียงราย ซึ่งขณะที่ทำการศึกษา ใน 4 พื้นที่ยังคงเป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟา ทั้งนี้ ขอย้ำว่าไม่มีวัคซีนใดที่จะฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อได้ 100% และสถานการณ์เช่นนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก ไม่ใช่ AZ หรือซิโนแวค แม้แต่การได้รับไฟเซอร์ ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100%
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจะดูปฏิกิริยาของวัคซีนต่อสายพันธุ์ไวรัสด้วยว่า สายพันธุ์เดลตาจะทำให้ภูมิต้านทานลดลงหรือไม่ จะปรับวิธีการใช้วัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นอย่างไร

ส่วนนโยบายฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อบูสเตอร์ ส่วนมากได้ซิโนแวคกัน 2 เข็มมาแล้ว เข็ม 3 เพื่อกระตุ้นควรเป็น mRNA หรือ AZ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะอนุมัติ จากนั้นก็จะฉีดให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ และเน้นในพื้นที่ระบาด.-สำนักข่าวไทย