สำนักข่าวไทย 21 ก.ค.-นพ.ประสิทธิ์ แจงเหตุผลฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิดรับมือเดลตา ช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่บีเซลล์ และทีเซลล์ ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อไวรัสได้ดี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในระยะเวลาอันสั้นเพียง 5 สัปดาห์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของโลก ว่า ขณะนี้อัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาแพร่เร็วและครอบคลุมไปทุกทวีปทั่วโลก แต่กราฟอัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากวัคซีน ขณะนี้มีวัคซีนใน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ ไวรัลเวกเตอร์, mRNA, โปรตีนเบส และวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งวัคซีนซิโนแวคเข้ามาช่วยในช่วงแรก ก่อนไวรัสมีการกลายพันธุ์ สมัยที่ยังเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น และอื่นๆ ยังไม่ใช่เดลตา ก็ถือว่าวัคซีนเข้าช่วยได้ในระดับที่ดีมาก
ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อรับวัคซีนเข้าไป จะมีผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มเม็ดเลือดขาวแบบบีเซลล์ จะกระตุ้นและตอบสนองได้ดีเมื่อได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) โดยจะไปกระตุ้นให้ บีเซลล์ ทำหน้าที่ในการคุมเชื้อไวรัสที่แปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ กลไกเหมือนกับการจัดการกับไข้หวัดใหญ่ ส่วนกลุ่มเม็ดเลือดขาวแบบทีเซลล์ จะถูกกระตุ้นได้ดีเมื่อได้รับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (แอสตราฯ) และ mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) โดยภูมิคุ้มกันแบบทีเซลล์ จะถูกกระตุ้นให้ฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับปรับรูปแบบการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 ซิโนแวค วัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งกระตุ้นบีเซลล์ได้ 3 สัปดาห์ แล้วตามด้วยแอสตราฯ เป็นเข็ม 2 กระตุ้นทีเซลล์ รวมเวลา 5 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูง เพียงพอป้องกันสายพันธุ์เดลตา ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม แต่ต้องเว้นระยะ 10-12 สัปดาห์ และขณะนี้พบว่าแอสตราฯ เข็มเดียวไม่เพียงพอป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา การฉีด 2 เข็ม กว่าจะมีภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลามากถึง 14 สัปดาห์ ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนรุ่นที่ 1 และกำลังมองหาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อครอบคลุมการกลายพันธุ์ ซึ่งจะออกมาในปี 2565 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ไปคุยกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เตรียมจองซื้อวัคซีนรุ่นที่ 2 แล้ว แต่ระหว่างนี้อีก 6-7 เดือน จะทำอย่างไรให้คนไทยปลอดภัย นั่นคือการจับคู่วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีพอ ให้ปลอดภัยจากสายพันธุ์เดลตา การฉีดวัคซีนแบบไขว้สลับชนิด เชื้อตายกับไวรัลเวกเตอร์ มีการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลออกมาตรงกัน คือ ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและปลอดภัย ก่อนที่จะมีการปรับสูตร ได้ฉีดไขว้สลับชนิดไปแล้วกว่า 1,000 คน ไม่มีรายงานผลข้างเคียง วัคซีนไขว้สลับชนิดจึงมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนเข็มที่ 3 บูสเตอร์โดส ซึ่งพบว่าซิโนแวค 2 เข็ม ทำงานได้ดีตั้งแต่ปี 63 ถึงต้นปี 64 แม้ในบางประเทศที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 โดส แม้มีสายพันธุ์เดลตาก็ไม่มีการระบาด แต่ขณะที่ในหลายประเทศฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม ยังติดเชื้อเพิ่ม ดังนั้น จึงต้องป้องกันบุคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้มากที่สุด และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรด่านหน้า จากนั้นจะเติมเต็มวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนที่ได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม. – สำนักข่าวไทย