กรุงเทพฯ 20 ก.ค.-ย้อนดูไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ กว่าจะมาถึงวันนี้ที่มีการเซ็นสัญญากันอย่างเป็นทางการ ใช้เวลาร่วม 4 เดือน
เริ่มตั้งต้นตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ศบค. มีมติจัดหาไฟเซอร์ ส่งมติให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 20 เมษายน และได้มีการลงนาม CONFIDENTIAL DISCLOSURE AGREEMENT ในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน จากนั้น วันที่ 3 พฤษภาคม กรมควบคุมโรค ส่งร่าง Binding Term Sheet ให้อัยการสูงสุดพิจารณา ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม กรมควบคุมโรคได้ส่งร่าง Binding Term Sheet ที่เจรจาเพิ่มเติมกับไฟเซอร์ให้อัยการสูงสุดพิจารณา
ใช้เวลา 3 วัน อัยการสูงสุด ได้แจ้งผลการพิจารณา Binding Term Sheet การตกลงจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์จัดซื้อตามนโยบายรัฐบาล โดยมีการลงนาม Binding Term Sheet ในวันที่ 10 มิถุนายน และวันรุ่งขึ้น 11 มิถุนายน ไฟเซอร์ ยื่นขอขึ้นทะเบียน โดย อย.ได้ขึ้นทะเบียนไฟเซอร์เป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2021/07/6.2-กราฟฟิก-ไทม์ไลน์ไฟเซอร์-1024x576.jpg)
จากนั้น 26 มิถุนายน ทางไฟเซอร์ ส่งเอกสารสัญญา Manufacturing and Supply Agreement และได้มีการส่งต่อให้อัยการสูงสุด ในวันที่ 28 มิถุนายน 1 สัปดาห์ต่อมา วันที่ 5 กรกฎาคม อัยการสูงสุดส่งสัญญากลับมาที่กรมควบคุมโรค และวันรุ่งขึ้น (6 ก.ค.64) ได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทันที นำมาสู่งการลงนามเซ็นสัญญาจัดหาไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ในวันนี้ (20 ก.ค.64)
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส จะมีกลุ่มไหนได้รับบ้างนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า จะนำไปฉีดให้กับ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วก่อนหน้าเพื่อเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส (เข็มที่ 3) 2.กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และ 3.ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดได้เดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งกระทรวงได้มอบให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดมาว่าต้องการจำนวนวัคซีนเท่าไหร่ โดยเป็นการสำรวจกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ทำงานใกล้ชิดและเสี่ยงสูง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ที่มีข่าวว่ามีหลายโรงพยาบาลส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จะต้องมีการสอบทานเข้าไปเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรงแน่นอน และยืนยันว่า จะฉีดวัคซีนให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเป็นอันดับแรกก่อน
และช่วงบ่ายที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้หารือร่วมกับตัวแทน 6 บริษัท ผู้ผลิตวัคซีน เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ในเจนเนอเรชั่น 2 ทั้งวัคซีนแบบชนิด m-RNA ,ไวรัลเวกเตอร์ และเชื้อตาย จาก บ.ซิลลิกฟาร์ม่า ผู้ผลิต วัคซีนโมเดิร์นนา บ.ไฟเซอร์ ผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ บ.แอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนแอสตราฯ
บ.เจนเซ่นฯ ผู้ผลิตวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บ.ไอเจเนเทค ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย วัคซินซิโนฟาร์ม วันนี้มาเสนอวัคซีนบารัค และองค์การเภสัชกรรม ที่กำลังพัฒนาวัคซีนเชื้อตาย โดยไทยมีความประสงค์ต้องการวัคซีน 120 ล้านโดส ในปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวัคซีนของประชาชน ส่วนเรื่องที่มี 2 ประเทศยินดีบริจาควัคซีนให้ไทย ขณะนี้ต้องรอให้ทางประเทศต้นทางเป็นผู้ประกาศ ไม่สามารถเปิดเผยได้.-สำนักข่าวไทย