สำนักข่าวไทย 15 ก.ค.-นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย หนุนการฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิด ซิโนแวคเข็ม 1 และแอสตราฯ เข็ม 2 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ทำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อเดลตา
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยและแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ แสดงความคิดเห็นในรูปแบบบทความ ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เรื่องวัคซีน โควิด19 ฉีดเข็มแรกซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 แอสตราเซเนกา ใช้ได้ไหมกับใคร?
โดยระบุใจความว่า วันนี้ใน กทม.และปริมณฑล ถูกเชื้อไวรัสเดลตาบุกทะลุทะลวงมาแรง จนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนักมีจำนวนมากขึ้น และเตียงในโรงพยาบาลในเขตนี้มีไม่พอที่จะรับไว้ ส่วนหมอพยาบาล รวมทั้งบุคลากรด่านหน้า ทำงานจนจะแบกรับภาระงานไม่ไหวแล้ว สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลวิชาการ ในด้านต่าง ๆ ยังมีไม่มากพอ แม้เราจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็ม อย่างเต็มศักยภาพและสุดกำลัง ก็ดูเหมือนเรายังตามหลังการระบาดของเชื้อไวรัสเดลตาอยู่ จนจำนวนผู้ป่วยหนักล้นเตียง ล้นมือหมอ คำถามคือ ยังพอจะมีวิธีการอะไรอีกไหม ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนัก ลงอย่างรวดเร็ว
คำตอบที่เสนอออกมาจากคณะกรรมการคือการฉีดวัคซีนแบบผสม สำหรับผมแล้วขอกล่าวถึงการฉีดแบบผสมวิธีเดียว คือฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็น แอสตราฯห่างกัน 3 สัปดาห์ ผมคิดว่าการฉีดแบบผสมนี้เป็นทางออกที่ดีในขณะนี้(นอกจากการฉีดซิโนแวค2เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์หรือฉีดแอสตราฯ 2 เข็มแต่ต้องฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์) การฉีดแบบผสมนี้วัตถุประสงค์อย่างเดียว คือต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนัก จนต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลดการติดเชื้อนะครับ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้าจำนวนเตียง และภาระงานของหมอในเขต กทม.และปริมณฑลในขณะนี้
การฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตราฯห่างกัน 3 สัปดาห์ เป็นขนาดของวัคซีนที่ผมยอมรับได้(แม้ยังมีข้อมูลน้อย)คือขนาดของวัคซีนยังไม่มากเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนอื่น ๆ ตามวิธีปกติได้ เหมือนกับการกินยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ซึ่งอยู่ในขนาดยาที่เหมาะสม แต่ได้ยามาจากคนละบริษัท ฉีดแบบผสมนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและเร็วกว่าการฉีดแบบปกติที่เรามีอยู่ ได้ภูมิคุ้มกันในระดับใกล้เคียงกับการฉีดแอสตราฯ2 เข็มหรือต่ำกว่าเล็กน้อย การแพ้วัคซีนชนิดที่รุนแรงและคุกคามถึงชีวิตไม่น่าจะมีมากกว่าการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเดลตาในขณะนี้ ผมจึงสรุปว่าใช้ได้ไม่น่าจะขัดแย้งกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือของใครนะครับ
แล้วจะใช้กับใครเมื่อไหร่ ผมขอให้ใช้ใน กทม.และปริมณฑลก่อน หรือในพื้นที่สีแดงเข้มที่การระบาดของเชื้อไวรัสเดลตายังพุ่งไม่หยุด เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ขอใช้การฉีดแบบผสมนี้นาน 3 เดือน และติดตามผลการฉีดแบบผสมนี้ว่าลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรงลงได้จริงไหมและมีความปลอดภัยเท่าเทียมกับวิธีฉีดตาม ปกติหรือไม่ คล้ายกับเป็นการทำวิจัยในระยะที่ 2-3 ที่ต้องวัดประสิทธิผลและติดตามความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาสรุปและเผยแพร่ให้ประชาคมโลกทราบทั่วกัน .- สำนักข่าวไทย