กรุงเทพฯ 15 ก.ค.-ในการประชุมวิชาการแพทยสภา กุมารแพทย์ชี้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ คาดอนาคตเด็กอาจติดมากขึ้นเนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่การฌาปณกิจศพติดโควิดสัปเหร่อไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE อาจถอดไม่ถูกวิธีติดเชื้อได้
ในการประชุมวิชาการออนไลน์ “ชวนหมอรู้ covid-19” ครั้งที่ 2 หัวข้อ Practical for covid-19 Management รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก จากข้อมูลประเทศอิสราเอลภายหลังฉีดวัคซีนแบบปูพรมแล้ว ด้วยวัคซีน mRNA ตั้งแต่มีการระบาดจนถึงปัจจุบัน พบว่า กลุ่มเด็กติดเชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก การติดเชื้อและเสียชีวิตในกลุ่มเด็กมีน้อย พบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงคาดการณ์ว่าภายหลังไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าใช้วัคซีนมีคุณภาพอาจพบการแพร่เชื้อในเด็กมากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการฉีดวัคซีนในเด็ก
การรักษาปัจจุบันแนะนำกุมารแพทย์ให้ติดตามผลเอกซเรย์ปอด หรือตรวจด้วย RT-PCR เพื่อความรวดเร็ว หากมีอาการแย่ลง ต้องรีบให้ให้ฟาวิพิราเวียร์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
ส่วนแนวทางรักษากุมารแพทย์ปัจจุบันคือติดตามเอกซเรย์ปอดและรักษาตามอาการ อาการที่พบมากคือ มีไข้สูง 1-2 วัน อาการไอรองลงมา บางรายมีอาการทางผิวหนัง ส่วนใหญ่เด็กติดเชื้อจะอาการไม่รุนแรงขนาดต้องให้ออกซิเจน หลายรายหายได้เอง และจะมีอาการภายหลังหายจากการติดเชื้อ อาทิ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง มือเท้าบวม อาการช็อค ซึ่งป็นผลตอบสนองภูมิคุ้มกัน
พร้อมแนะนำการดูแลเด็กที่ติดเชื้อ ถ้าพ่อแม่ติดลูกไม่ติด ควรหาญาติที่คุ้นเคย หรือสถานรับเลี้ยง แต่หากหาคนที่ดูแลไม่ได้พ่อแม่ที่ติดเชื้อต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือตลอดเวลา อย่าหอมจูบลูก และต้องสอบถามเด็กบ่อยๆ มีอาการหรือไม่ อาจต้องสวอปซ้ำเผื่อติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการ
ส่วนกรณีพ่อแม่ไม่ติด แต่ลูกติดเชื้อจากผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กวัย 2 เดือน คนที่เลี้ยงต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด สวมถุงมือและเมื่อเด็กหายจากโรคพ่อแม่ต้องกักตัว14 วันอีกด้วย หากต้องส่งตัวเด็กเข้าคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ต้องมีการเตรียมพร้อมมากกว่าผู้ใหญ่ ต้องเป็นเด็กโตที่พอดูแลช่วยเหลือตนเองได้
ปัจจุบันวัคซีนที่พบมีการใช้ไฟเซอร์ในเด็ก ที่อเมริกาอายุ 12 ปีขึ้นไปและซิโนแวคในจีน เริ่มฉีดในเด็ก 3-7 ปีส่วนวัคซีนอื่นอยู่ในขั้นตอนวิจัย บางชนิดเริ่มใช้ในบางท้องถิ่น
ด้าน นพ.อนิรุต วรวาท หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.พระปกเกล้า เปิดเผยกรณีการจัดการศพที่ติดเชื้อโควิด ว่า หากดำเนินการไม่ถูกวิธีอาจมีการแพร่เชื้อจากศพสู่คน ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานญาติผู้ตาย ผู้จัดงานศพ อาจพบการสะสมเชื้อได้จากศพ ทั้งจากเสื้อผ้าผู้เสียชีวิต สิ่งของใช้ผู้เสียชีวิต ขยะติดเชื้อ
การบรรจุหรือแพ็คศพจึงต้องมีการเช็คทำความสะอาด ฆ่าเชื้อทั้งถุงชั้นในและชั้นนอก ผ่านการทำความสะอาดตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โอกาสที่จะมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ภายนอกถุงจึงน้อยมาก พร้อมแนะนำผู้ที่เคลื่อนย้ายโลงศพใส่เพียงถุงมือ ไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE เพราะอาจไม่มีความรู้การถอดชุดจะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อแทน ส่วนการฌาปณกิจศพให้เผาทั้งถุงหรือฝังทั้งถุง ทั้งนี้เคยพบผู้เสียชีวิตบางรายในพื้นที่กรุงเทพฯไม่มีประวัติติดเชื้อแต่เมื่อทำการตรวจกลับพบว่าติดเชื้อโควิด-19จึงต้องมีการจัดการศพที่ติดเชื้อโควิดอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการแพร่จากศพสู่คน .-สำนักข่าวไทย