กรุงเทพฯ 13 ก.ค.- สปสช.ให้สายด่วน 1330 ช่วยผู้ป่วยโควิดที่ต้องการกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา โดยจะประสานโรงพยาบาลปลายทางและจัดหารถรับส่งให้ ด้าน รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เผยจัดรถบัสรับตัวผู้ป่วยกลับจากจาก กทม.แล้วกว่า 150 รายโดยเบิกค่าพาหนะจาก สปสช.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นไป สปสช.ร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปรับระบบการดูแลโดยจัดการตรวจคัดกรองเชิงรุกตั้งเป้าวันละ 10,000 ราย ผู้ที่ติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งผู้ติดเชื้อที่โทรมายังสายด่วน สปสช.1330 เพื่อขอให้ประสานหาเตียงให้และยังค้างอยู่ในระบบกว่า 2,500 ราย ก็จะปรับเข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation ทั้งหมด
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือในต่างจังหวัดก็สามารถดำเนินการได้ 2 ทางคือ 1.ผู้ป่วยติดต่อไปยังโรงพยาบาลโดยตรง จัดการนัดหมายเรื่องการรับส่งกันโดยตรง และ 2.โทรมายังสายด่วน 1330 กด 15 แล้วทาง 1330 จะประสานกับโรงพยาบาลปลายทางและจัดรถไปส่งให้
“โรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตามภูมิลำเนา สามารถจัดรถมารับผู้ป่วยได้ทันที และเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงค่าชุด PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อมาที่ สปสช.ได้ แต่หากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วย สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย โดย รพ.เป็นผู้เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช.ได้เช่นเดียวกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ขณะนี้ก็กำลังหารือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งที่สามารถจัดหารถได้ เช่น โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยมาเบิกค่าพาหนะได้จาก สปสช.
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมรถบัสโดยสารไว้หลายคันสำหรับรับตัวผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียงกลับมาจาก กทม. โดยขณะนี้รับกลับมาแล้วประมาณ 150 คน โดยค่าใช้จ่ายด้านพาหนะต่างๆจะเบิกจาก สปสช. ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการกลับมารักษาตัวในภูมิลำเนาสามารถติดต่อที่โรงพยาบาลได้โดยตรงและไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเดินทาง
“ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เปิดช่องให้ย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัดได้ ซึ่งในการย้ายผู้ป่วยก็คำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ผู้ป่วยหนักจะไม่รับกลับเพราะอาจเกิดการเสียชีวิตระหว่างทาง ส่วนผู้ที่รับกลับก็จะไม่แวะพักระหว่างทาง รวมทั้งคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งนอกจากที่โรงพยาบาลสิชลแล้ว ก็จะมีการขยายการดำเนินการในลักษณะนี้ในจังหวัดอื่นๆต่อไป” นพ.อารักษ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย